ร่วมผจญภารกิจปลุกผีสุขีนครกับนางฟ้าคนล่าแห่งปารีส

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

กระแสความคลั่งไคล้จากทั่วทุกหัวระแหงของฝรั่งเศสต่อ Fabuleux Destin d’Amélie Poulain หนังของผู้กำกับฌอง-ปิแอร์ เฌอเนต์(Jean-Pierre Jeunet) หนุนส่งให้อาภรณ์สดใสน่าเอ็นดู กับหุ่นอ้อนแอ้นและผมทรงบ็อบของเอมิลี ปูแล็ง (Amélie Poulain)นางเอกของเรื่องในร่างโอเดรย์ โททู(Audrey Tautou) นักแสดงสาวอารมณ์เบิกบาน อีคิวเป็นเลิศนั้น ผงาดขึ้นเป็นภาพตัวแทนสาวฝรั่งเศสประจำศักราชแรกของสหัสวรรษใหม่ไปโดยปริยาย

Amélie เป็นเรื่องราวของ สาวเสิร์ฟขี้อายผู้มีความฝันที่จะเห็นคนรอบข้างมีความสุขสมหวังกับชีวิต ในท้ายที่สุดหญิงสาวน้ำใจประเสริฐก็ได้สมรักกับนิโนหนุ่มที่ขี้อายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน บทนิโนเล่นโดยแม็ทธิว แคสโซวิทซ์(Mathieu Kassovitz) นักแสดงผู้เคยมีผลงานกำกับ Le Haine มาแล้วเมื่อค.ศ.1995

ความงดงามของกรุงปารีสซึ่งหนังใช้เป็นฉากหลังบ่มเร้าอารมณ์ผูกพันต่อสถานที่ของคนดูชาวฝรั่งเศสจนเอ่อท้นในหัวอกได้ก็ด้วยความก้าวล้ำของการศัลยกรรมปรุงแต่งภาพภูมิทัศน์ ถนนหนทางและมุมซอกต่าง ๆ ย่านมองมาร์ต(Montmartre)อย่างขนานใหญ่ เทคโนโลยีดิจิตอลรุ่นล่าถูกระดมมาจากห้องแล็บเพื่อปฏิบัติการชุบฟื้นเสน่ห์แห่งวันวานของย่านนี้ให้กลับมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งในแทบทุกรายละเอียดทางโสตทัศนสัมผัส ไม่เว้นแม้แต่สำเนียงละมุนของดนตรีย้อนยุคจากหีบเพลง

นอกจากความบันเทิงถมเถ และเทคนิคด้านภาพอันแนบเนียน ตลอดตัวหนังยังพราวแพรวไปด้วยยุทธศาสตร์และเคล็ดการเล่าเรื่อง อย่างไรตามจุดแข็งของ Amélie ไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยภายในเหล่านี้ สิ่งที่สร้างความปรีดาชื่นมื่นเป็นล้นพ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ Amélie มาจากปัจจัยภายนอกของหนัง เพราะนับตั้งแต่การฉายรอบปฐมฤกษ์ในฝรั่งเศสเมื่อ 25 เมษายน ค.ศ.2001 เป็นต้นมา ปฏิกิริยาของสื่อมวลชน คนดู และวงวิชาการจากทิศานุทิศหลั่งไหลสู่หนังอย่างไม่ขาดสาย และความสำเร็จแบบฟ้าถล่มดินทลายจากตัวเลขรายได้ เป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดคำนึงโดยสิ้นเชิง Amélie กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสื่อสารมวลชนไปแล้วจากข้อเท็จจริงที่ว่าชั่วเพียง 7 สัปดาห์แรกของการลงโรง คนดูกว่า 6 ล้านหัวแห่ตีตั๋วเข้าไปชมหนังเรื่องนี้ และก็เป็นความจริงอีกเช่นกันหนังได้รับทั้งเสียงชื่นชมและก่นด่าถึงขั้นเป็นงานฟุ้งเฟื่องเลื่อนลอย ข้อเท็จจริงเพียงประการเดียวที่อาจชะลอความแรงของ Amélie ลงได้บ้างคือ หนังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจัดงานภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ให้เข้าร่วมในเทศกาลซึ่งจัดขึ้นในบ้านเกิดของหนังแท้ ๆ สาเหตุก็อย่างที่รู้กันว่า รสนิยมอันเลิศลอยของคณะผู้จัดงานไม่ต้องกับงานประเภทขวัญใจมหาชน

ในส่วนรายได้ของหนังแทบไม่ต้องพูดถึง บนเส้นทางทอดพา Amélie ขึ้นสู่บัลลังก์จ่าฝูงเหนือตารางอันดับหนังทำเงินในฝรั่งเศสนั้นปูลาดด้วยกลีบกุหลาบอย่างหนานุ่ม Amélie ยังเป็นบ่อเกิดประเด็นการถกเถียงอันดุเด็ดเผ็ดมันในแวดวงปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์ มิใยต้องกล่าวด้วยว่าบรรดาชนชั้นนำทางการเมืองและนักเลือกตั้งที่พร้อมจะกระโจนเข้าไปขอมีเอี่ยวกับของปรากฏการณ์ใด ๆ ก็ตามที่ช่วยลดต้นทุนในการเข้าถึงประชาชนอยู่แล้ว ย่อมใช้ประโยชน์ Amélie ในฐานที่เป็นจุดรวมความสนใจของคนหมู่มากเพื่อสร้างคะแนนนิยมแก่ตนเอง

นายฌาคส์ ชีรัก(Jacques Chirac) ประมุขแห่งสาธารณรัฐเลือกที่จะทำความรู้จักกับ Amélie เป็นการส่วนตัว โดยบัญชาให้จัดฉายหนังเรื่องนี้แก่ท่านถึงในพระราชวังเอลิเซ(the Elysée palace) ที่ทำการทำเนียบประธานาธิบดี ส่วนนายกรัฐมนตรี ลิออแนล โจสแปง(Lionel Jospin) และรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลตีตั๋วเข้าชมในโรงเยี่ยงสามัญชนทั่วไปเพื่อ ด้านนายกเทศมนตรีแห่งมองมาต์รก็รับที่จะจัดฉายหนังเรื่องนี้บริเวณจัตุรัสประจำย่านนัยว่าเพราะหนังมีคุณูปการเหลือแสนในการดึงดูดผู้คนให้มาเยือนสถานที่แห่งนั้น

นับเป็นครั้งแรกนับแต่ ค.ศ.1986 ที่หนังสัญชาติฝรั่งเศสสามารถยื้อแย่งค่าตั๋วส่วนใหญ่ภายในประเทศ คืนมาจากกองทัพหนังนำเข้าไปจากฮอลลิวูดได้สำเร็จ เป็นความสำเร็จที่ปราศจากลางบอกเหตุ ก่อนหน้านี้ถึงจะมีหนังฝรั่งเศสระดับแม่เหล็กอยู่บ้างแต่ยังไม่กล้าแข็งพอที่จะปิดเส้นทางไหลออกนอกประเทศของเงินฟรังค์ค่าตั๋วส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่คนดูฝรั่งเศสถูกโฉลกกับหนังฝรั่งเศสอยู่เป็นทุนเดิม พิจารณาจากมุมนี้ ความสำเร็จของ Amélie จึงมีปัจจัยพื้นฐานรองรับอยู่บ้างตามอัตภาพ แต่เพียงปัจจัยพื้น ๆ มีหรือจะบันดาลให้หนังประสบความสำเร็จชนิดกลายเป็นปรากฏการณ์ได้ การค้นหาคำอธิบายถึงความสำเร็จแบบมาเหนือเมฆของ Amélie จึงเป็นหัวข้อที่สร้างผลสะเทือนเลื่อนลั่นวงการวิจารณ์บันเทิงฝรั่งเศสไม่น้อยกว่าตัวหนังเอง ระหว่าง ความรุ่มรวยและถึงพร้อมในความเป็นหนัง หรือ วิธีคิดในการกำกับที่มุ่งก่อให้ปฏิกิริยาชนหมู่มาก หรือจะเพราะ การย้อนกลับไปหาคุณค่าจากรากเหง้าแห่งอัตลักษณ์ โดยสวมรอยเข้ากับกระบวนการโพสต์โมเดิร์น เชื้อปะทุในการจุดระเบิดหนังจนเปรี้ยงปร้างไปทั่วปฐพีฝรั่งเศส คือ ปัจจัยประการหนึ่งประการใด หรือจะเป็นปัจจัยทั้งหมด ถ้าเช่นนี้ แต่ละปัจจัยทำหน้าที่ มีสัดส่วนของบทบาทและส่งผลต่อหนังอย่างไรบ้าง


ปัดฝุ่นบทพรรณาของสัจนิยมเชิงกวี(The recycling of poetic realism)

Amélie เริ่มต้นเรื่องราวจากที่ รือ แซ็งต์ แวงซ็อง(Rue St-Vincent) สถานที่ตามคำบรรยายของอองเดร ดุสโสลิเอร์(André Dussolier) ชวนให้คนดูเคลิ้มระลึกถึงบทเพลงอมตะฝีมือการประพันธ์ของผู้กำกับฌอง เรอนัวร์(Jean Renoir)เองจากหนังเรื่อง French Cancan งานค.ศ.1955 เรอนัวร์ผู้นี้ยังเคยถ่ายทอดภาพมองมาต์รออกมาตามห้วงคำนึงที่ปรากฏอยู่บนผืนผ้าใบงานจิตรกรรมของผู้เป็นบิดา(ไว้ในหนัง Le Déjeuner des canotiers) มาแล้ว ผลงานในอดีตเรื่องนี้ของเรอนัวร์เอื้อประโยชน์อย่างยิ่งแก่ เฌอเนตต์ เขาวัดรอยเท้าด้วยการปลุกความถวิลหาต่ออดีตอันงดงามของมองมาต์รมาใช้กับ Amélie อย่างได้ผลเหมือนคนดูถูกยาสั่ง เฌอเนต์ย้ำภาพความเป็นมองมาต์ร ด้วยภาพหลากหลายของที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ทางเท้า ร้านรวงตามหัวมุมถนน มหาวิหารโนเตรอดาม(Notre-Dame)อย่างที่คุ้นตากันบนโปสการ์ด สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของปารีส ร้านกาแฟ สถานีชุมทางรถไฟในแบบอารต์ นูโว ภาพทั้งหมดเมื่อประกอบเข้าด้วยกัน ทำให้มองมาต์ร กลับมาเป็นย่านชุมชนที่มีชีวิตชีวาอีกครั้ง

การใช้ประโยชน์จากภูมิทัศน์มองมาต์รเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการนำความฝังใจใฝ่คำนึงต่ออดีตแห่งสถานที่ตามบทพรรณาของกวีแนวสัจจนิยม(the poetic realism)กลับมาเล่าใหม่ แนวทางการเล่าเรื่องโดยมีฉากหลังอันตราตรึงดึงดูดเช่นนี้เคยเฟื่องฟูในคริสตทศวรรษ 1930 ครั้งกระนั้นในฉากหนึ่งของ Hotel du Nord ผู้กำกับมาร์กแซล การ์เน(Marcel Carné) เคยให้อาร์เล็ตตี(Arletty)ตะเบ็งใส่หลุยส์ จูเว็ต์(Louis Jouvet)เพื่อปลดปล่อยความรู้สึกถั่งท้นครั้งได้ยลโฉมคลองแซ็งต์มาร์แตง(Canal St-Martin) ด้วยถ้อยคำที่มีเพียงว่า “บรรยากาศมันช่าง…” (ตราบจนทุกวันนี้ Hotel du Nord ยังคงติดอันดับหนังยอดนิยมจากจำนวนผู้เข้าไปคลิกในเว็บ allocine.fr) เมื่อคลองแซ็งต์ มาร์แตงปรากฏแก่สายตาคนดู Amélie ในฉากเอมิลีมาร่อนหินตัดผิวน้ำโดยไม่ต้องมีเสียงในทำนองเดียวกับในหนังของการ์เนครั้งค.ศ.1938 มากระตุ้นเตือน ความทรงจำอันแจ้งกระจ่างต่อคลองของคนดูย่อมสุกสกาวขึ้นอีกครั้ง บรรยากาศสองฝั่งคลองแซ็งต์มาร์แตงนั้นปริ่มหัวอกเกินกว่าจะบรรยายออกเป็นคำพูดจริง ๆ

ครั้นทอดตามองผู้คนที่ใช้ชีวิตผูกพันกับย่านดังกล่าวก็จะพบว่า ล้วนแล้วแต่เป็นสามัญชนปารีสในพิมพ์เดียวกับในงานของเรอนัวร์ การ์เน และเรเน แคลร์(René Clair) ในหลากหลายสารรูป ไล่ตั้งแ่ต่ผู้หลักผู้ใหญ่หน้าตาบูดบึ้ง ลูกค้าขี้จุกจิก นายหน้าจัดหาที่พักจอมตื้อลูกล่อลูกชนแพรวพราว คนขายบุหรี่ท่าทางขี้โรค เจ้าของร้านชำจอมเฮี๊ยบ เรื่อยไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่มีใครอยากไปตอแย พอยุคสมัยแปรเปลี่ยน สถานที่แห่งนี้ก็มีสมาชิกรุ่นใหม่แทรกเสริมเข้ามาเป็นต้นว่า เด็กประจำร้านวิดีโอ หรือช่างประจำซุ้มรับซ่อมกล้อง

ที่ขาดไม่ได้ปารีสยังมีสถานที่และความทรงจำอีกจำพวกอันพร้อมมูลด้วยรูป รส และ กลิ่นที่เป็นดั่งจิตวิญญาณ นั่นก็คือ ร้านกาแฟ ห้องเสื้อชั้นนำ โรงทำขนมและช็อกโกแลต(เช่น ยี่ห้อ Poulain เป็นต้น) นอกจากนี้ยังมีรายการแข่งขันจักรยาน Tour De France ซึ่งก็มาออกตัวกันที่ปารีส และอีกมากมาย ผู้กำกับเฌอเนต์ยอมรับว่าตนตั้งเป้าจะปลุกวิญญาณวัยเยาว์ของเขา ฝรั่งเศสในวัยเด็กของคนที่เกิดเมื่อค.ศ.1953 ยังคงตราตรึงอยู่ในห้วงคำนึงผมเสมอ ถึงจะไม่ละเอียดละออ ครบครันแต่อย่างน้อยก็กับภาพอันเป็นตัวตายตัวแทนของวันวาน การแต่งเนื้อแต่งตัวของผู้คน องค์ประกอบเด่น ๆ ของปารีส

ภาพและบรรยากาศปารีสในความทรงจำเก่าก่อนไม่เพียงกลับมาโลดแล่นมีชีวิตชีวาอีกครั้งเพื่อสนองตัณหาเฌอเนต์ ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิตอล กลิ่นอายไม่พึงประสงค์และภาพอุจาดอันเป็นซากสวะสั่งสมในห้วงกาลเวลา แม้แต่กองขี้หมาก็ถูกกำจัดออกไปจาก Amélie ชนิดไม่เหลือหลอ กล่าวได้ว่า การเนรมิตปารีสอันผุดผ่องและต้องตามโหงวเฮ้งในงานกวีสัจนิยมแห่งศตวรรษ 1930 ถือเป็นความสำเร็จเหนืออื่นใดของเฌอเนต์และเป็นการประกาศศักดาครั้งสำคัญของเทคโนโลยีดิจิตอล

ทั้งยังเอื้อประโยชน์แก่การนับญาติภาพปารีสของ Amélie เข้ากับปารีสจากภาพหนังยุคเก่าก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการปรุงสร้างเอกลักษณ์และจัดแต่งสวนหย่อมอพาร์ทเม็นท์ของเอมิลี อาคารแห่งนี้ออกแบบราวบันไดรวมถึงสถาปัตยกรรมภายในตามแบบโบราณ จากหน้าต่าง ภาพมองซิเออร์ดูฟายเออคร่ำเคร่งกับการวาดระบายสีภาพ Le Déjeuner des canotiers ลงผืนผ้าใบคงเป็นทัศนวิสัยอันเจนตาของเอมิลี คนดูจะเกิดคับคล้ายคับคลาเหมือนว่าฉากหลังของ Le Crime de Monsieur Lange(งานใน ค.ศ.1935 ของเรอนัวร์) และของ Hotel du Nord จะเบียดชายคาเข้ามาในทำเลเรื่องราวของ Amélie จนดูราวกับว่าเธอเป็นตัวละครไม่จากหนังของเรอนัวร์ก็ของการ์เน

เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเรอนัวร์หวนกลับมายืนหลังกล้องในการทำ French Cancan เฌอเนต์ก็จับ Amélie เป็นงานแรกหลังกลับจากไปรับหน้าที่กำกับ Alien: Resurrection ให้สตูดิโอของฮอลลิวูด ฉากหลังอันอุ่นหนาฝาคั่งด้วยความเป็นฝรั่งเศสทั้งในทั้งของ French Cancan และ Amélie จึงเป็นผลจากอาการลงแดงคิดถึงบ้านของคนจรหมอนหมิ่นคู่นี้ L’Humanite หนังสือพิมพ์สายคอมมิวนิสต์ไม่สบอารมณ์กับ Amélie และค่อนขอดว่างานด้านภาพของหนังทำตัวประหนึ่งโปสการ์ดชวนเชื่อให้คนดูอเมริกันหลงไหลไปกับความหมดจดงดงามของปารีส อีกโสดหนึ่งก็ปรามาสว่า Amélie แปรสภาพมองมารต์เป็นสาขาของยูโรดิสนีย์ไปเสียแล้ว แต่จะพูดไปทำไมมี อย่าว่าแต่คนดูอเมริกันจะระทวยไปกับภาพผักชีโรยหน้าเหล่านั้น คนฝรั่งเศสเองต่างหากที่บ้าเห่อกับภาพชวนฝันของชุมชนเปี่ยมมนต์ขลังแห่งนี้ยิ่งกว่าชนชาติไหน มิเช่นนั้นหนังคงไม่โกยเงินถล่มทลายจนบริษัทจัดจำหน่ายกล้าคิดการใหญ่ส่งหนังออกไปตีตลาดต่างประเทศ

ในการสาวสาแหรกพื้นเพของหนัง นักวิจารณ์พึงนำหนังเข้าไปทาบวัดกับแบบแผนทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศสทั้งมวลเพื่อความเป็นธรรมแก่ตัวหนัง หากเป็นดังนี้จะพบว่า Amélie ใช่เป็นเพียงการปลุกผีสัจนิยมเชิงกวีขึ้นมาสะกดผู้คนให้เคลิบเคลิ้ม หากแต่หนังยังจุดธูปเรียกองค์ศิลปะตระกูลเหนือจริง(surrealism)มาลงอีกด้วย แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวกระจายอยู่ในส่วนอ้างอิงไม่ได้ฉายออกมาเป็นภาพ ดังจะสัมผัสได้ถึงร่องรอยความทรงจำเด่น ๆ จากงานเหนือจริงของกวีฌาคส์ เพรแวต์(Jacques Prévert) ศิลปินภาพถ่ายโรแบรต์ ตัวนู(Robert Doisneau) ภาพเขียนซำเหมาน้อยของพูโบต์(Poulbot) และคู่รักแห่งปารีสของเรย์มองต์ ปีเนต์(Raymond Peynet)ปมจากนวนิยาย(เรื่อง Zazie dans le métro)ของเรย์มองต์ กีโน(Raymond Queneau) จอร์จ แปแรค(Georges Perec)(จากเรื่อง La Vie mode d’emploi) มาร์แซล อีเม(Marcel Aymé)(จากเรื่อง La Traversée de Paris) และในงานอันเป็นที่เกรียวกราวก่อนหน้าหนังเพียงสด ๆ ร้อน ๆ คือบทตอนว่าด้วยเศษเสี้ยวความสุขในนวนิยายนอกกระแส La Première Gorgée de bière ของฟิลิปเป เดอเยอม(Philippe Delerm)

อย่างที่กล่าวแล้ว ลักษณะเหนือจริงเหล่านี้แทรกซุกอยู่เพียงยิบย่อย ความสำเร็จของ Amélie ส่วนใหญ่มาจริงการเนรมิตภาพความหลังให้กลับมาแวดล้อมโลดแล่นอยู่บนจอ ภายใต้การอุปถัมภ์ของเทคโนโลยีที่อำนวยประโยชน์แก่การใช้ภาพเล่าเรื่องบวกกับรสชาติจากการติดตามรับชมหนังทั้งนี้โดยอาศัยกลยุธของการ์ตูนและโฆษณา ดังที่เฌอเนต์เองได้ออกมายอมรับว่าทุกฉากทุกตอนจะต้องมีลูกเล่นที่ผิดแแผกแตกต่างทั้งในแง่ภาพและบทพูด”ดิสนีย์ว่ายังไง ผมก็ว่าตามนั้น”

เนื้อเรื่องของ Amélie แตกต่างกับงานชิ้นก่อน ๆ ของของเฌอเนต์เป็นอันมาก ไม่ว่าจะเทียบกับ Delicatessen หรือ La Cité des enfants perdus หนังซึ่งเฌอเนต์เป็นผู้กำกับร่วมกับมาร์ก กาโร(Marc Caro) ในค.ศ.1991 และ 1995 ตามลำดับ แต่ในแง่รูปแบบ Amélie ก็เฉกเช่นหนังทั้งสองเรื่อง กล่าวคือ ผู้กำกับมุ่งสร้า้งจุดเด่นจากการระดมกลเม็ดเคล็ดวิชาด้านภาพและเสียงมาใช้หมดไส้หมดพุง ภาพสวยแปลกตา มีการตัดต่อโดยคำนึงถึงจังหวะจะโคนและำลำหักลำโค่นของระยะภาพ ตลอดจนการถ่ายภาพต่อเนื่องโดยอาศัยเพลงกล้องอันพริ้วลื่น และการเร้าอารมณ์ด้วยเสียงประกอบ

นับวันเทคโนโลยีดิจิตอลจะยิ่งเข้ามามีบทบาทตอบสนองรองรับความคิดของผู้กำกับ ใน Amélie มีหลายฉากที่มายาแห่งดิจิตอลสามารถรังสรรค์ภาพแปลก ๆ เช่น ภาพเธอเลือนกลืนไปกับสายน้ำ หัวใจเต้น แม้แต่เสื้อผ้าอาภรณ์ของนางเอก ด้วยเหตุที่บทบาทของเทคโนโลยีต่อหนังมีเพิ่มพูนขึ้นทุกที ข้อกล่าวหาในทำนองว่า หนังอาจตกเป็นเบี้ยล่างของเทคโนโลยีกระทั่งไม่มีพื้นที่เหลือให้เนื้อหาสาระจึ่งย่อมเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง ดังที่เคยเกิดวิวาทะในช่วงทศวรรษ 1980 ระหว่างลุก เบสซอง(Luc Besson)กับฌ็อง ฌากส์ บีนิกซ์(Jean-Jacques Beineix)ในประเด็นว่าด้วยการยกอำนาจนำให้ภาพหรือเรื่อง ขยับใกล้เข้ามาอีกนิดก็มุมมองของแซร์จ ดานีย์(Serge Daney)ต่อหนังยุคหลังปรากฏการณ์ ทั้งนี้ดานีย์ได้ชี้ให้เห็นว่าอิทธิพลทางสุนทรียะจากโทรทัศน์และงานโฆษณากำลังแผ่เข้าครอบงำงานหนังจนน่าวิตก วิวาทะอันเผ็ดร้อนต่อประเด็นหนังเน้นการสร้างภาพลักษณ์มากกว่าจรรโลงแก่นเรื่องของจริงต้องยกให้จากปลายปากกาของแซร์จ กาแกนสกี(Serge Kaganski) รองบรรณาธิการ Les Inrockuptibles นิตยสารภาพยนตร์แนวก้าวล้ำชาวบ้าน กับการสับแหลกเฌอเนต์ฐานที่ “ดีแต่ระดมกลเม็ดเด็ดพรายมาสร้างโลกที่ตัวเองอยากเห็นและอยากให้เป็น อย่าหวังเสียให้ยากว่าจะได้สัมผัสสภาพความเป็นจริืงจากงานของเฌอเนต์”

ถึงจะเจอข้อกล่าวหาหนักหน่วงชนิดไม่เผาผีขนาดนนี้ เฌอเนต์กลับไม่ยี่หระกับข้อหามอมเมาคนดูด้วยภาพ แถมยังตอกกลับโดยอัญเชิญแนวคิดสิ่งที่ปรากฏย่อมกำพืดของเป็น self-reflexivity มาเป็นองค์ประจำตัว(แบบหลังสมัยใหม่นิยม – postmodern)ของ Amélie

ข้อโต้แย้งของเฌอเนต์มีน้ำหนักและฟังขึ้นเสียด้วย เพราะในหนังก็มีแนวคิดการเป็นหนังตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาแบบเป็นกันเองทีเล่นทีจริงอยู่จริงเสียด้วย Amélie กลายเป็นส่วนที่หากขาดไปหนังก็คงไม่สมบูรณ์อย่างที่เป็น เป็นต้นว่าในตอนที่เอมิลีล่วงรู้ความกลัดกลุ้มของคนเชียร์แขก เรื่องมีอยู่ว่าคนเชียร์แขกด่วนเข้าใจผิดไปว่าสามีตายไปแล้วและก็มานั่งเป็นทุกข์เป็นร้อนกับพฤติกรรมชอบยุ่งกับลูกเมียชาวบ้านแต่หนหลังของสามีตัวแสบ คนเชียร์แขกระบายความกลัดกลุ้มโดยรื้อค้นจดหมายรักจกาสามีออกมาตัดแปะจนออกมาดูเป็นเหมือนผลงานศิลปะแนวตัดปะ โดยในระหว่างที่อ่านสาส์นรักทบทวนความหลังจะมีดนตรีประกอบไร้เดียงสาร่าเริงแบบเพลงหนังการ์ตูน วิธีการเล่าเรื่องดังกล่าวบ่งบอกและเป็นตัวแทนสะท้อนภาพและคุณค่าของการเล่าอยู่ในตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยบ่อเกิดเรื่องราว(เฉพาะคาบการเล่านี้)เหมือนการผูกปมในเรียงความเด็กมัธยม ผสมโรงด้วยอารมณ์ความรู้สึก(ถ้าไม่คิดว่าสามีได้ตายไปแล้ว คนเชียร์แขกจะอยู่ในอารมณ์อย่างนี้หรือเปล่า) ตลอดจน วิธี”แก้กลุ้ม”อันไร้เดียงสาขัดกับวัยวุฒิอย่างรุนแรงของตัวละคร

ในความสวยแปลกตา ภาพของหนังไม่ได้มีหน้าที่สร้างความตะลึงพรึงเพริดเท่านั้น หากยังสร้างอุปมาอุปมัยกระจายอยู่ทั่วตัวหนัง ไล่ตั้งแต่ภาพลูกตาของเอมิลีจากกรอบวงเลนส์กล้องส่องทางไกลตัวจิ๋ว ด้วยกล้องตัวจิ๋วนี้เอมิลีสามารถสอดส่องพฤติกรรมของจิตรกรผู้พิสมัยการสิงสถิตย์อยู่ในร้านกาแฟ เขาคนนี้จะจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากตัวตายตัวแทนของอองเดร ฌีด(André Gide) ที่มานั่งลงมือเขียนเรื่องราวว่าด้วยนักเขียนกับการเขียน แต่การเปรียบเปรยซ้อนทับความเป็นหนังที่ชัดแจ้งต้องยกให้ความพยายามปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งงานจิตรกรรมจากปลายภู่กันของเรอนัวร์โดยนักวาดรูปรายหนึ่ง วันแล้ววันเล่านักวาดคนนี้เฝ้าสังเกตอากัปกิริยา อารมณ์ ความรู้สึก ของเอมิลีเพื่อถ่ายทอดด้านลึกของเธอมาสิงสถิตย์ในภาพของสาวเสริ์ฟคนกลางในผลงานศิลปะของเขาให้จงได้ ฐานภาพการเป็นผู้ถูกจับตามองอุปมาจากเหตุการณ์ย่อย

ของเอมิลีทั้งในและนอกหนักงจึงล้อสะท้อนการเป็นผู้ถูกจับจ้องอุปมาจากเหตุการณ์ย่อยในส่วนการปฏิบัติต่อเอมิลีของศิลปินรายนี้ และคนดูก็กลายเป็นผู้รู้เห้นเป็นใจกับการแอบดูเอมิลีโดยปริยาย ร้ายกว่านั้นขณะที่รู้อยู่แก่ใจว่าเธอกำลังถูกจับตามอง แต่คนดูก็ทำอะไรไม่ได้เนื่องจากมีระยะแห่งความเป็นจริงทางกายภาพคอยขวางกั้นโดยธรรมชาติแห่งสื่อ

การเปรียบเปรยอ้างอิงและสร้างนัยความลึกแก่การเล่ายังมีให้เห็นจากส่วนปลีกย่อยอื่น เช่น อัลบั้มภาพถ่ายของนิโนที่เขาเก็บเล็กผสมน้อยภาพถ่ายเสีย ๆ จากซุ้มรับถ่ายรูป รวมถึงม้วนวิดิโอของเอมิลี เฌอเนต์ยอมรับว่าเขาภาพจากรายการ Zapping ของช่องคาแนลปลูมาเป็นตัวเชื่อมหนังเข้ากับโทรทัศน์เพื่อง่ายแก่การเข้าถึงของคนรุ่นใหญ่ แทนที่จะอาศัยการสร้างสัมพัทธบทผ่านนักแสดงแคลร์ โมริเย(Claire Maurier)(มารับบทเป็นเจ้าของร้านดื่มกินที่เอมิลีทำงานอยู่)ซึ่งคนดูรุ่นใหม่อาจไม่รู้ว่า เมื่อค.ศ.1959 เธอเคยรับบทเป็นแม่อองตวน ดัวแนล(Antoine Doinel)ในหนังเรื่อง Les Quatre cents coups ของฟร็องซัวส์ ทรุฟโฟต์(Truffaut) หรือแม้แต่บทบาทของเธอในงานขึ้นหิ้งอย่าง Jules et Jim ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นที่จดจำของผู้ชมรุ่นใหม่หรือไม่


สงครามทุนนิยมบนสมรภูมิโปสการ์ด

ความเด่นดังของ Amélie อาจเป็นเพียงประเด็นสังคมเพียงหนึ่งเดียวที่นักการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวามีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีหลักฐานเป็นคำให้สัมภาษณ์ของเหล่านักการเมืองในหนังสือพิมพ์ลิเบอเรชันฉบับประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2001 รัฐมนตรีปีกขวายกนิ้วให้แก่ความละเมียดละมัยของหนัง อีกขั้วหนึ่งรองนายกเทศมนตรีนครปารีสนักการเมืองสายคอมมิวนิสต์ยกย่อง Amélie ว่าเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์การต่อต้านทุนนิยม”ต่อจาก(การประท้วงการประชุมองค์การการค้าโลก)ที่ซีแอตเติล นีซ และมิลาน” ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น Génération République พวกนิยมสาธารณรัฐหัวเอียงซ้ายออกมาชื่นชมการนำเสนอภาพและเล็งเห็นคุณค่าผู้คนชั้นรากหญ้าของสังคม ในทางกลับกันคาแกนสกีแห่งนิตยสาร Inrockuptible โจมตีหนังด้วยข้อกล่าวหาว่าปารีสใน Amélie ดูดัดจริตราวดินแดนสุขาวดี นักวิจารณ์ปากกรรไกรรายนี้ชี้ว่าภาพของหนังเข้ากับโฆษณาชวนเชื่อของพรรคชาตินิยมฝ่ายขวาเป็นคอหอยลูกกระเดือกในการสร้างความฮึกเหิม หวงแหนมาตุภูมิแก่ผู้เสพ แถมยังเหน็บว่าพรรคชาตินิยมน่าจะขอยืมภาพบางส่วนจากหนังไปใช้ในการรณรงค์หาเสียงเสียงให้รู้แล้วรู้รอดค่าที่ภาพจากหนังมีอานุภาพโหมกระพือเลือดรักถิ่นฐานในห้วงอารมณ์ผู้พบเห็นได้ชะงัดยิ่ง

ถึงแม้หนังสือพิมพ์ลิเบอเรชันในแง่สถาบันจะชื่นชม Amelie แต่นักเขียนในสังกัดกลับแขวะตัวผู้กำกับเฌอเนต์จากพฤติกรรมนำบรรดาจุดเด่นความเป็นฝรั่งเศสไม่ว่าจะเป็น เสียงแอคคอร์เดียน ธงชาติฝรั่งเศส จนถึงภาพไมตรีจิตและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของชุมชน มายำใหญ่ขึ้นโต๊ะ กลายเป็นว่าท้ายที่สุดแล้ว ฝรั่งเศสก็เป็นเพียงชาติเล็ก ๆ คอยกินบุญเก่าจากอดีตอันรุ่งโรจน์

การที่นักวิจารณ์ทุ่มเถียงกันหน้าดำคร่ำเคร่งถึงความแม่นตรงของภาพและเรื่องราวใน Amélie อาจเป็นเพราะหลงลืมไปว่าโดยธาตุแท้แล้ว Amélie คือหนังตลก ธรรมชาติของหนังตลกคือการขยายผลเรื่องราวที่หนังแนวเน้นความเสมอจริงมักมองข้าม แม้จะจำลองภาพสังคมมาไว้ในหนัง ทว่าด้วยภาพรวมและท่าทีที่ห่างไกลจากสังคมที่เป็นอยู่จริง ด้วยเหตุที่หนังตลกมักไม่แตะต้องเนื้อหาเปราะบาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหรือมีอุดมการณ์ใด ๆ เคลือบแฝง จึงเท่ากับการลอยตัวเหนือความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทั้งปวงโยอัตโนมัติ หนำซ้ำมักเป็นการขยายผลเรื่องราวที่หนังแนวเน้นความสมจริงมักมองข้าม และให้บทสรุปตามตำราตบหัวแล้วลูกบหลัง(หลังจากหยอกเอินขบกัดตัวละครจนหนำใจ)

ตัวอย่างชั้นดีของหนังตลกตามพิมพ์เขียวดังกล่าวก็เช่น Le Placard(แซวการเมือง) และ La Vérité si je mens! 2 (อำความแตกต่างทางชาติพันธุ์) รวมถึง Le Goût des autres ของผู้กำกับอาคแนส ยาอุย(Agnès Jaoui) หนังตลกจากมุมมองอิตถีนิยม อย่างไรก็ตาม บรรดางานตลกที่ยกมาล้วนขยับขยายแก่นสารผ่านท่วงลีลาย้อนยุค แต่ Amélie กลับระดมเขี้ยวเล็บเทคโนโลยีสารพัดขนานเพื่อเร้าอารมณ์ถวิลหาอดีต ความถวิลหาอดีตนี่เองคือชนวนเหตุของการถกเถียงยกใหญ่

Amélie แทบปลอดกลิ่นของท่าทีแบ่งแยกชาติเมื่อเทียบกับ Code inconnu งานค.ศ.2000 ของผู้กำกับไมเคิล ฮาเนอเก(Michael Haneke) J’ai pas sommeil งานค.ศ1993 ของผู้กำกับหญิง แคลร์ เดอนีส(Claire Denis) ที่ปักหลักเล่าเรื่องจากมองมาตร์เช่นเดียวกัน ตัวละครใน Amélie แทบทุกตัวล้วนจิตใจงดงาม ไม่เป็นพิษเป็นภัย จะมียกเว้นก็เพียงลูเซียน(Lucien) มือขวาของเจ้าของร้านขายผักผลไม้ เขาชอบรังแกคนไม่มีทางสู้ ถึงเขาจะเป็นเชื้อสายอาหรับ และการที่เขาตกเป็นเป้าชำระแค้นของเอมิลีจะเรียกคะแนนสงสารแก่เขาได้พอตัว แต่ด้วยเหตุที่เขามีชื่อว่าลูเซียงอันเป็นชื่อยอดนิยมในหมู่ผู้ชายฝรั่งเศส แทนที่จะมีชื่อในพากย์อารบิก จึงลบล้างอคติการแบ่งแยกชาติพันธุ์ออกจากหนังได้หมดจด ผู้สวมบทลูเซียงคือ จาเมล เดบูซ(Jamel Debbouze)คนฝรั่งเศสเชื้อชาติแอฟริกัน เดบูซเป็นนักแสดงตลกแผลง ๆ ทางโทรทัศน์ การรับบทใน Amélie จึงอาจมีเงาของอคติทางชาติพันธุ์ทาบอยู่บ้างแต่หนังก็หาทางเจือจางดังกล่าวไป

เดบูซได้ดิบได้ดีขึ้นมาพร้อมกับกลุ่มตลกเลือดครึ่งแอฟริกันตอนเหนือ-ฝรั่งเศส(รุ่นแรก ๆ หรือไม่เกินรุ่นที่สอง) ด้วยเหตุที่ตลกกลุ่มนี้เป็นขวัญใจคนฝรั่งเศสรุ่นหนุ่มสาว การที่ Amélie นำภาพลักษณ์เดบูซจากจอโทรทัศน์หรือในข่าวซุบซิบในแวดวงคนดังมาสวมรอยเข้ากับตัวหนัง ดังจะเห็นได้จากฉากลูเซียงทำเปิ่นยกนาฬิกาข้อมือขึ้นมาดู ทั้งที่มียกลังผลไม้อยู่ ผลไม้ในลังจึงเทกระจาดลงไปกลิ้งหลุน ๆ เกลื่อนพื้น เหตุการณ์ในหนังสอดรับกับอุบัติเหตุถึงขั้นแขนพิการบางส่วนในชีวิตจริงของเดบูซ ขณะที่หนังวาดภาพปารีสเป็นแดนสุขาวดีก็เป็นที่แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งว่า Amélie จะถูกพ่วงข้อกล่าวหาอีกกระทงนั่นคือ กระพืออารมณ์โหยหาและหมกมุ่นกับอดีตซึ่งมีนายพลเปแตง(Marshal Pétain)เป็นต้นตำรับการปลุกผีรักชาติ โดยมีการที่หนังจงใจเก็บงำหรือมองเมินเกร็ดหรือรายละเอียดปลีกย่อย หรือยึดโยงนำจุดเด่นมาใช้ประโยชน์

ควรกล่าวด้วยว่าข้อหาวัวสันหลังหวะกับการเพิกเฉยที่จะชำระความจริงอันเป็นบาดแผลเดียวกันนี้ทิ่มแทงใจฝรั่งเศสทั้งชาติด้วยเช่นกันเพราะนับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ชาวฝรั่งเศสยังคงอดสูกับความหลังอัปยศของชาติต่อพฤติกรรมชาติภายใต้การนำของรัฐบาลวิชีที่ไปเข้ากับนาซีในช่วงต้นสงครามและสงครามวิวาทะระหว่างฝ่ายต่อต้านนาซีกับฝ่ายที่ยอมงอไม่ยอมหักในกานกำหนดท่าทีของชาติยังคงคุกรุ่นในหัวอกฝรั่งเศสอยู่เสมอมา เมื่อทำ Amélie ซึ่งคล้ายจะมีพฤติกรรมมุงป่าด้วยหญ้าแฝกออกฉายจึงกลายเป็นสมรภูมิล่าสุดของการรณรงค์ระหว่างฝรั่งเศสต่อคนฝรั่งเศส แต่ประวัติศาสตร์บาดแผลยิ่งชำระยิ่งกลายเป็นการสาวไส้ให้กากินและลากไส้พวกเดียวกันเพราะความเป็นจริงเมื่อตกอยู่ภายใต้สนธิสัญญาไม่รุกรานต่อกันกับกองทัพนาซี ในหมู่ชาวฝรั่งเศสมีมาและใช้ประโยชน์จากสถานการณ์แตกต่างกันไป บางส่วนเห็นดีเห็นงามกับลัทธิเผด็จการ บางคนฉวยโอกาสทำมาหากินกับช่วงเวลาวิกฤติของชาติจนกลายเป็นเศรษฐีสงคราม บางส่วนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ พวกที่รักตัวกลัวตายก็พลิ้วเอาตัวรอดไปตามแต่สถานการณ์จะชักพา พวกที่ต่อต้านนาชีหัวชนฝาถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อยู่ปลายขั้ว ทั้งนี้ชนชั้นสังกัด อายุ หรืออาชีพ แทบไม่มีส่วนกำหนดทัศนคติต่อนาซี หรือ ท่าทีของชาติ ในแง่การเมือง ประสบการณ์จากการมีส่วนร่วมในฉากสงครามพฤติกรรมของชาติฝรั่งเศสจึงไม่ควรถูกพิพากษา ไม่ว่าจะโดยฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาเพราะในกระบวนการต่างฝ่ายต่างย่อมมีข้อมูลอันเป็นจุดด่างพร้อยของอีกฝ่ายอยู่ในมือและพร้อมจะงัดมาสาดโคลนโดยธรรมชาติ การกระทำใด ๆ ภายใต้ภาวะสงครามย่อมหนีไม่พ้นต้องยกประโยชน์ให้จำเลยด้วยเหตุการเมืองพาไป ไม่ว่าฝ่ายซ้ายหรือขวาย่อมไม่ควรอ้างความชอบธรรมแก่ฝ่ายตนเองในการโจมตีหรือปกป้องพฤติกรรมของชาติในวาระดังกล่าว การโยนประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกกับพฤติกรรมของรัฐบาลวิชีมาใส่บ่า Amélie ในฐานะหนังมีกระบวนการสร้างคล้ายคลึงกับการเขียนประวัติศาสตร์ช่วงเวลาดังกล่าวของชาติ แล้วตีวัว Amélie เพื่อหวังกระทบคราดการเขียนประวัติศาสตร์อันกำกวมหรืออำพรางบาดแผล จึงเป็นเรื่องหาประโยชน์อันใดไม่ได้แก่ทั้งตัวหนังและตัวประวัติศาสตร์นิพนธ์

แล้วเหตุไฉน Amélie ถึงกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวลุกลามไปสู่ตีความขยายความต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักวิจารณ์ที่มักเอ็นดูหนังตลกเสมอ แต่ครั้งถึงตา Amélie กลับสับแหลก เภทภัยดังกล่าวอาจเป็นผลสืบเนื่องจากความดังระเบิดของหนังก็เป็นได้ เนื่องจากเป็นงานไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่เกลือกกลั้วกับอุดมการณ์และวาทกรรมทั้งหลายบรรดามี ผู้กำกับเฌอเนต์ปกป้องโลกสุดแสนร่มเย็นงดงามเขาว่าเป็นผลจาก “เราอยู่ในยุคที่ไม่มีความขัดแย้งทางอุดมการณ์ถึงขั้นเอาชีวิตเข้าแลกอีกต่อไป บรรยากาศปลอดโปร่งเช่นนี้ก็ต้องหันมาเล่นเรื่องราวประเภท”ความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ “ ก็เห็นจะจริงดังว่า ในยามที่บ้านเมืองและสถาบันต่าง ๆ ในสังคมมีสมานฉันท์และมีขันติธรรมมากขึ้นต่อข่าวร้ายต่าง ๆ ทั้งที่เป็นจริงและเป็นเพียงข่าวลือ ขณะเดียวกันพลเมืองเองมีวุฒิภาวะสูงขึ้นที่จะอยู่ร่วมกับความทรงจำเลวร้ายต่ออดีต ฝรั่งเศสทั้งประเทศเสียขวัญอีกครั้งเมื่อมีนายทหารระดับนายพลออกมาแฉหลักฐานการกระทำอันป่าเถื่อนของทหารฝรั่งเศสต่อผู้เรียกร้องอิสรภาพชาวอัลจีเรียน ในสงครามกลางเมืองอัลจีเรียระหว่างค.ศ.1954-1962 ครั้งกระนั้นฝรั่งเศสยังปกครองดินแดนแห่งนั้นในฐานะเจ้าอาณานิคม ในภาวะบ้านเมืองสงบเรียบร้อย พลเมืองอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อมีหนังที่เสนอภาพจินตนาการเพริศแพร้ว และความทรงจำหอมหวานอย่าง Amélie จึงเป็นทางเลือกที่ครบเครื่องลงตัวสำหรับผู้คนที่ปรารถนาจะยืมมือหนังเป็นทางลัดนำพาตนเองไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งสันติสุข

ถัดจากการเป็นสมรภูมิทำศึกของนักประวัติศาสตร์ Amélie ยังต้องทำศึกกับหนังที่ลอกมาจากฮอลลิวูดอย่าง Loft Story ยุทธภูมินี้เป็นการซื้อใจคนดู ให้เลือกระหว่างการได้ชื่อว่าเป็นผู้มีรสนิยมหรือไร้รสนิยมในการดูหนัง เพราะหากใครเลือกดู Amélie ผลงานการรังสรรค์โดยหน่อเนื้อเชื้อไขฝรั่งเศสก็จะได้ชื่อว่าตาถึง แต่หากใครทะเล่อทะล่าไปเลือกเสียเงินให้กับ Loft Story ซึ่งแท้จริงที่จริงก็คือ Big Brother พากย์ฝรั่งเศสและเป็นตัวแทนของขยะทางวัฒนธรรมจากจอโทรทัศน์ย่อมกลายเป็นพวกตาไม่ถึงไปโดยอัตโนมัติ ถึงตอนนั้น Amélie กลายเป็นเดวิดตัวจิ๋วผู้หาญกล้าหักเข้าชนและขยี้ยักษ์โกไลแอธฮอลลิวูดคามือ แม้จะเป็นแค่ในดินแดนฝรั่งเศสเองก็ยังดี เมื่อประชาชาติฝรั่งเศสเดินเข้าโรงเพื่อรับชม Amélie จึงมีความหมายมากกว่าแค่การหาความสำราญกับหนังครอบครัวเรื่องหนัง หากยังกินความหมายไปถึงการออกไปร่วมใจหวนรำลึกความหลังที่ยังความอิ่มเอมเต็มตื้นพร้อมทั้งถือโอกาสหลบเข้าโรงหนังไปเลียแผลจากอดีต


วีรสตรีคนใหม่ของมวลชน

ประเด็นและกระบวนทัศน์ที่ทุกฝ่ายนำมาเป็นกรอบอภิปรายขยายความและประเมินคุณค่า Amélie มีร้อยแปดกระบวนท่า แต่น้อยนักที่จะพุ่งเป้าไปที่เพศของของตัวละครเอก ต้องไม่ลืมว่าตัวละครเอกของ Amélie เป็นผู้หญิง เดิมทีผู้กำกับเฌอเนต์วาดฝันไว้ว่าตัวละครตัวนี้จะเป็นชาย แม้ในขั้นร่างบทนั้นเฌอเนต์จะหยิบยืมบุคลิกบางด้านของเอมิลี วัตสัน(Emily Watson – - นักแสดงสาวชาวอังกฤษ ผู้ฝากฝีมือการแสดงอันลือเลื่องไว้ใน Breaking the Waves ผลงานของผู้กำกับชาวเดนมาร์ก ลารส์ วอน ทริเยร์)มาเป็นตุ๊กตา แต่การฝากความหวังของหนังไว้ที่นางเอกไม่มีอยู่ในสารบบคิดของเฌอเนต์แม้แต่น้อยในตอนนั้น แต่แล้วในท้ายที่สุด เฌอเนต์ก็กลับลำเสียดื้อ ๆ และฝากผีฝากไข้หนังไว้ในมือผู้หญิง มีใครมาเข้าฝันชักแม่น้ำทั้งห้าเปลี่ยนใจเฌอเนต์หรืออย่างไร และผลสืบเนื่องจากการตัดสินใจครั้งนั้นเป็นเช่นไร ลองมาตั้งตุ๊กตาคำตอบกันดูสักตั้งก็ไม่เสียหลาย

ประการแรก ความเป็นหญิงเป็นสีสันอีกทั้งยังจะเรียกคะแนนสงสารจากคนดูได้มากกว่า ดังมีนิทานหรือนิยายที่มีตัวเอกเป็นผู้หญิงอิสตรีเป็นหลักฐาน บุคลิกของเอมิลีจึงมีส่วนผสมจากตัวเอกทั้งของอลิซในแดนมหัศจรรย์และหนูน้อยหมวกแดงอันถือเป็นกรณีศึกษาอมตะของประสิทธิผลจากการวางตัวละครเพศหญิงเป็นแกนหลัก ดังจะเห็นได้ว่าเอกลักษณ์ในด้านการแต่งตัวของเอมิลีคือการใช้เสื้อผ้าสีแดงเป็นหลัก คู่กับรองเท้าคู่เบ้อเริ่มจนดูเหมือนเป็นเด็กสวมรองเท้าผู้ใหญ่ กระนั้น “เกือกโข่ง” ก็ดังติดลมบนในหมู่สาวฝรั่งเศสไปแล้ว ภาพ “เด็กโข่ง” ยิ่งถูกขับเน้นด้วยผมทรงบ็อบขริบสั้นระหน้าผากและดวงตากลมแป๋ว สุขนาฏกรรมอันเบิกบานของเอมิลียังเอื้ออำนวยแก่การกวาดเก็บจริยวัตรอันงดงามและยังความอิ่มเอมใจแก่ผู้พบเห็น หญิงผู้เป็นภาพตัวแทนแม่พระของสหัสวรรษล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้าหญิงไดอานา มกุฎราชกุมารีแห่งเวลล์ หรือนักบุญเทเรซา หนังบอกเล่ากิจกรรมของสาวใจบุญเจ้าปัญญาในทำนองทะเล้นบ้าบิ่นตึงตัง เป็นผลให้ความพยายามบรรลุความฝันและได้เห็นทุกคนมีความสุขถ้วนหน้า กลายเป็นเรื่องราวของเจ้าของฝันที่ซ้อนหนังอยู่อีกชั้นหนึ่ง

หนังขยายนัยยะจากฉากเอมิลีเที่ยวควานหากรุเก็บของเล่นของเด็กผู้ชายจนเจอ โดยเหตุที่เนื้อแท้ความเป็น “คนรักเด็ก” ของเอมีลีเกิดขึ้นในช่วงเวลาประจวบเหมาะกับทุกฝ่ายกำลังจดจ่ออยู่กับข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าหญิงไดอานา รวมทั้งตัวหนังก็พาดพิงถึงเหตุสะเทือนขวัญดังกล่าวในรูปรายงานข่าวทางโทรทัศน์ ทว่าเอมิลีกลับปิดโทรทัศน์ที่กำลังรายงานข่าวมรณกรรมของแม่พระคนงาม เท่ากับเป็นปิดฉากภาพในห้วงคำนึงและถึงเวลาที่เธอจะออกปฏิบัติการเปลี่ยนฝันเป็นจริง

ดังนั้น ในทันทีที่ภาพข่าวเจ้าหญิงไดอานาจากจอโทรทัศน์ดับวูบลง ภายในห้วงคำนึงที่อยากเห็นคนรอบข้างสมปรารถนาก็สิ้นสุดลง พร้อมกันนั้นก็ได้ฤกษ์ที่เอมิลีจะลงมือแปรรูปความฝันความคำนึงให้เป็นมรรคเป็นผลในขอบเขตของโลกที่เธอมีอำนาจกระทำการ ด้วยจังหวะจะโคนของของหนังในการนำสองเหตุการณ์มาวางเทียบเคียงกัน ย่อมเหมาเอาได้ว่าเท่ากับเจ้าหญิงไดอานาได้จากไปพร้อมกับเอมิลีก้าวเข้ามารับช่วงภารกิจบรรเทาทุกข์ของผู้คน

เนื่องด้วยความหมายและคุณค่าของการดำรงตนของตัวละครเอกอยู่ที่การปวารณาตนเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขผู้อื่น แต่จะมีผู้ชายที่ไหนยอมมาแบกรับพันธกิจผู้หญิง ๆ เยี่ยงนั้นไป เพราะขัดกับสามัญสำนึก หนังนำแม่พระผู้ไร้เดียงสาซึ่งเป็นลูกหากินมาปรุงหลอมขึ้นเป็นบุคลิกสื่อนำพานางฟ้าเอมิลีเข้าไปนั่งในหัวใจคนดูหน้าตาเฉยก็จริง แต่ในความเป็นเอมิลีก็มิได้มีเพียงส่วนผสมบุคลิกจืดชืด เมื่อผ่อนปรนการพิเคราะห์จากภาพนักบุญหญิงไปสู่ความเป็นหญิงโดยจารีต เอมิลียังกอปรด้วยด้านร่าเริง ขี้เล่น และไม่เป็นพิษเป็นภัยกับคนทั่วไป

เธอไม่กินเหล้า(แม้จะมีภาพเธอสูบบุหรี่หน้าร้านอยู่บ้าง) เธอเช่าหนังโป๊เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในความเป็นเอมิลีจึงมีทั้งภาพความเป็นแม่และลูกบังเกิดเกล้าทาบประทับอยู่ ในเวลาเดียวกันเธอยังทรงไว้ซึ่งลักษณะของผู้ถือพรหมจรรย์ ขนาดการปลดปล่อยเพลิงปรารถนาในตัวนิโนอันคุกรุ่นในใจเธอออกมานอกห้วงคำนึงก็ยังเป็นไปโดยอาคมพ่อมดเฒ่า(นักวาดรูป) อาการเคลิบเคลิ้มกับอารมณ์รัญจวนวาบหวามโดยมีจิตวิญญาณความเป็นปารีสคอยเป็นใจ หนังก็ยังเสนอภาพออกมาในเชิง “ทะเล้น” มากกว่า “เร่าร้อน” เช่นเดียวกับความเสียวซ่านร่านสวาทจากหลาย ๆ ฉากในร้านหนังโป๊ ปฏิกิริยาต่อธุระทางเพศอันใสซื่อของนางเอก จึงแปรรูป Amélie สู่การเป็นหนังร้อนฉบับเฉิ่ม ๆ (ทั้งที่มีการวางเงื่อนไขและหยิบฉวยบรรยากาศจาก les Quatres cents coups, Jule et Jim ไปจนถึง Julie vout en buteau มายำเข้ากับหนัง แต่หนังคลี่คลายไปในทางแหกโผจากหนังต้นตำรับเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง Amélie พลิกโฉมปารีสจากสังเวียนโลกีย์เป็นสนามเด็กเล่นขนาดมหึมา อุ่นหนาฝาคั่งด้วยเครื่องเล่นและมหรสพนานาชนิด เด็กโข่งอย่างเอมิลีสามารถเตร่ตะลอนไปได้ทั่วโดยปราศจากข้อวิตกกังวลใด ๆ

ความเป็นหญิงของเอมิลียังมีความพิเศษโดดเด่นท่ามกลางสภาวการณ์ร่วมสมัยของฝรั่งเศส เมื่อเทียบกับความเป็นหญิงในหนังเรื่องอื่น ๆ ภาพหญิงพรหมจรรย์ของเอมิลีดับรัศมีความรุนแรงทางเพศที่อัดแน่นอยู่ใน Loft Story อยู่หมัด ความเป็นหญิงผู้ตั้งมั่นในรักแบบปราศจากราคะจริตยังเป็นบุคลิกด้านตรงข้ามกับบรรดานางเอกประเภทนักเลงสวาท ทั้งจากหนังกระแสหลักและหนังเฉพาะกลุ่ม ไม่เชื่อก็ลองปรายตาดูพฤติกรรมของนางเอก Intimacy ของผู้กำกับปาตริซ เชอโร(Patrice Chéreau) หรือจะเป็นนางเอกของผู้กำกับวีร์ชินี เดสปองต์(Virginie Despentes)ใน Baise-moi ควรกล่าวด้วยว่า Amélie นั้นออกฉายไล่เลี่ยกับการวางแผงของหนังสือ La Vie sexuelle de Catherine M. หนังสือของแคเธอรีน มิลเลต์(Catherine Millet) นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชื่อก้องเล่มนี้ว่าไปแล้วก็คือ Baise Moi ฉบับร้อยแก้วดี ๆ เนื่องจากเป็นงานเขียนว่าด้วยกิจกรรมทางเพศอันระห่ำโลดโผนของลูกผู้หญิง ผู้เขียนขุดพฤติกรรมทางเพศพิเรนท์ ๆ ของผู้หญิงมาไขในที่แจ้งในลักษณะวัดรอยแท้งานของมาร์กีส์ เดอ ซาด(Marquis de Sade)(บิดางานวรรณกรรมแนวซาดิสม์ – - ชื่อซาดของเขาเป็นโคตรเหง้าของศัพท์บัญญัติ Sadism) และ Histoire d’O ของพอลลีน เรจ(Pauline Réage) งานเหล่านี้ล้วนรังแต่จะสารภาพถึงความล้มเหลวในการพยายามผ่าทางตันเพื่อกระตุ้นความพริ้งบรรเจิดต่อจินตกรรมทางเพศของผู้หญิง หนังสือของมิลเลตต์จึงเป็นเพียงการฉายภาพความเย้ายวนและคั่งคัดด้วยราคะจริตของผู้หญิงฝรั่งเศสอันฝืดเฝือ หมดเหลี่ยมมุมให้ค้นหาไปแล้ว การเทียบแย้งดังกล่าวยิ่งขับให้ภาพหญิงพรหมจรรย์ใน Amélie การเทียบแย้งดังกล่าวยิ่งขับภาพหญิงพรหมจรรย์ใน Amélie ให้ยิ่งสง่างามองอาจขึ้นกว่าเดิมหลายขุม และทำให้ตัวหนังกลายเป็นงานสร้างสรรค์ที่ถูกสุขอนามัย ปลอดเชื้อโรคอันอาจระบาดสู่ผู้เสพและเป็นมิตรกับผู้ชมทุกกลุ่มไปโดยปริยาย

เหตุผลประการสุดท้ายที่เอมิลีต้องเป็นผู้หญิงก็เพราะหนังหมายจะใช้ตัวละครตัวนี้ทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ จริงอยู่ในความเป็นเอมิลีอาจมีบุคลิกแม่พระผู้ไร้เดียงสาโดยอาศัยเจ้าหญิงไดอานา นักบุญเทเรซา และหนูน้อยหมวกแดงเป็นแม่พิมพ์ แต่ในภาคที่เหลือบุคลิกเอมิลียังมีที่ว่างเว้นไว้มากมายเพื่อรอจินตนาการอันหลากหลายมาเรื่อระบายเติมเต็ม ที่ว่างดังกล่าวเป็นช่องว่างและโอกาสอันดีสำหรับคนทั่วไปในการสวมรอยด้วยเอกลักษณ์และความฝันของตนเอง

โฟลแบลต์(Flaubert)ผูกวลี “ฉันนี่แหละมาดามโบวารี”(“Madame Bovary, c’est moi!”) ให้กลายเป็นวาทะอมตะได้ เฌอเนต์ก็เลียนวาที “ฉันนี่แหละเอมิลี”(“Amélie Poulain, c’est moi!”)ให้ลือลั่นได้ ทั้งยังแถมมาด้วยวลี “เราก็เอมิลีด้วย” ดังก้องอยู่ในใจคนดูได้อีกต่างหาก เหตุจากหนังเว้นที่ว่างในบุคลิกตัวละครเอกไว้รอคนดูนำตัวเองเข้าไปผนวก ชะรอยสัญลักษณ์ความเป็นเอกสตรีของฝรั่งเศสหลังจากประทับทรงในภาพลักษณ์ของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงมานาน ไล่ตั้งแต่บริจิต บาร์โดต์(Brigitte Bardot) แคเธอรีน เดอเนิฟ(Catherine Deneuve) มาจนกระทั่ง ลาเอทีเทีย คาสตา(Laetitia Casta) บัดนี้คงถึงคราวเปลี่ยนที่ประดิษฐานมาอยู่กับเอมิลี นับเป็นการเคลื่อนภูมิมาสถิตย์ในบุคลาธิษฐานซึ่งโลดแล่นอยู่เพียงในจินตนาการของผู้คนดุจเดียวกับการยืนหยัดเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์และการสถาปนาระบอบสาธารณรัฐของมารีแอนน์ สตรีสามัญผู้ไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง นอกจากในความทรงจำเชิงมุขปาฐะ

และหนทางเข้าถึงตัวเธอได้ใกล้ที่สุดก็คือในภาพวาดของเออร์เชนี เดอลาครัวซ์(Eugène Delacroix) และบนด้านหนึ่งของเหรียญกษาปน์สกุลฟรังก์ รุ่นที่หล่อในค.ศ.1920 ลงมาจนกระทั่งก่อนที่ฝรั่งเศสจะเปลี่ยนมาเข้าระบบเงินสกุลยูโร(หลัง ค.ศ.1790 มีการนำภาพประติมากรรมนูนสูงถ่ายทอดเรื่องราวสตรีที่ถูกเผาในระหว่างการปฏิวัติมาประดับตามสถานที่ราชการสำคัญ ๆ เชื่อกันว่ามาริแอนน์ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงถึงผู้หญิงคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ หากเป็นการรวมศูนย์สัญลักษณ์แทนหญิงสามัญผู้เสียสละและอยู่เคียงข้างมวลชนในระหว่างการลุกฮือเพื่อเปลี่ยนระบอบของสังคม ชื่อ Marianne เป็นการสมาสพระนาม มารี พระแม่พรหมจรรย์ เข้ากับนักบุญแอนน์ นักบุญอุปถัมภ์ดินแดนควิเบคและบริตานี และทรงคุณในทางปกป้องคุ้มครองสตรีครรภ์แก่ให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากการให้กำเนิดทารก


จักริน วิภาสวัชรโยธิน

แปลจาก

Vincendeau, Ginette. ‘Café Society’. http://www.bfi.org.uk/sightandsound/feature/15

เครื่องมือส่วนตัว