สะพานในกรุงเทพฯสมัยรัชกาลที่5

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

สะพานในกรุงเทพฯสมัยรัชกาลที่5 : การศึกษาเชิงจำนวนและพื้นที่ของสะพาน ที่สัมพันธ์กับการขยายตัวของเมือง จากแผนที่ประวัติศาสตร์

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในลักษณะทางกายภาพของเมืองกรุงเทพฯ จากเมืองสมัยเก่าที่ใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางสัญจรหลัก กลายเป็นเมืองสมัยใหม่ที่อาศัยการคมนาคมทางบก มีรถม้า รถยนต์ และรถราง เป็นหลัก จึงมีการตัดถนนใหม่ๆซ้อนทับลงไปบนโครงข่ายคูคลองดั้งเดิม ประกอบกับการขยายตัวของกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการสร้างสะพานขึ้นเป็นจำนวนมาก ตลอดช่วงเวลา 42 ปีของรัชสมัย (พ.ศ. 2411 – 2453) ในแง่ของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย สะพานจึงเป็นหลักฐานสำคัญของการขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 บทความนี้มุ่งเสนอข้อมูลจากการศึกษา ซึ่งมีสมมุติฐานว่าปีที่สร้างและตำแหน่งที่ตั้งของสะพานที่สร้างขึ้น หรือบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ย่อมสัมพันธ์กับการขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาอยู่ 2 ประการ คือ 1) เพื่อจำแนกสะพานในเชิงพื้นที่และเวลา และ 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งที่ตั้งของสะพาน และการขยายตัวของเมืองช่วงเวลาต่างๆในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยใช้ข้อมูลในแผนที่กรุงเทพฯพ.ศ. 2430 และ พ.ศ. 2450 เป็นกรอบในการศึกษาพื้นที่พระนครในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แก่ เกาะรัตนโกสินทร์ภายในคลองผดุงกรุงเกษม และพื้นที่นอกคลองผดุงกรุงเกษม ทิศเหนือจดคลองสามเสน ทิศใต้จดถนนตกและทิศตะวันออกบริเวณตำบลประทุมวัน การศึกษานี้มีขั้นตอนหลักๆคือ ขั้นที่ 1 สำรวจจำนวนสะพานและที่ตั้งที่เกิดจากถนนเส้นหลักตัดกับคลอง จากแผนที่ประวัติศาสตร์ พ.ศ. 2450 พร้อมตรวจสอบรายชื่อของสะพานทั้งหมด โดยเปรียบเทียบและอ้างอิงข้อมูลชื่อสะพานจากแผนที่ชุดดังกล่าวเป็นหลัก ควบคู่กับเอกสารจดหมายเหตุ หากไม่พบชื่อจึงใช้องค์ประกอบทางกายภาพภายในบริเวณนั้น เช่น ถนน วัด วัง เป็นชื่ออ้างอิง พร้อมกำหนดอายุของสะพานทั้งหมด โดยใช้เอกสารจดหมายเหตุ และแผนที่ ขั้นที่ 2 วิเคราะห์และจำแนกสะพานในเชิงเวลาและพื้นที่ โดยในขั้นแรกแบ่งตามพื้นที่เมืองซึ่งสัมพันธ์กับการขยายตัวของพระนคร อันแบ่งได้เป็น 5 ส่วนคือ 1) ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่ง ตะวันออกถึงคลองคูเมืองเดิม 2) คลองคูเมืองเดิมถึงคลองรอบกรุง 3) คลองรอบกรุงถึงคลองผดุงกรุงเกษมถึงคลองผดุงกรุงเกษม 4) พื้นที่นอกเขตผดุงกรุงเกษม ตอนเหนือ(สวนดุสิต) และ 5) พื้นที่นอกเขตผดุงกรุงเกษม ตอนใต้ (ประทุมวัน บางรัก บ้านทวาย) จากนั้นจึงนำสะพานทั้งหมดมาศึกษาตามช่วงปีที่สร้าง โดยใช้เอกสารจดหมายเหตุและแผนที่ สามารถแบ่งได้ 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงปี พ.ศ. 2411 – 2430, พ.ศ. 2430 – 2446 และ พ.ศ. 2446 – 2453 จากข้อมูลดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนสะพานในแผนที่และปีที่สร้าง เพื่อทราบความถี่ในการสร้างสะพานในแต่ละปี และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างที่ตั้งของสะพานในแผนที่และช่วงเวลาที่สร้างสะพานดังที่ได้แบ่งไว้


การศึกษาสะพานในกรุงเทพฯจากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2450 แผนที่กรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2450 เป็นแผนที่ที่กรมแผนที่ กระทรวงเกษตราธิการ ได้จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการออกโฉนดที่ดิน โดยอาศัยเทคโนโลยีการสำรวจรังวัดแบบตะวันตก ในมาตราส่วน 1 : 1000 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งภายในเขตพระนครและอำเภอปริมณฑล คิดเป็นแผนที่ประมาณ 200 ระวาง แต่ละระวางแสดงข้อมูลทางกายภาพของสถาปัตยกรรมและเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 อย่างละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งนามอาคารสถานที่ ผังอาคาร วัสดุก่อสร้าง ภูมิสถาปัตยกรรม ระบบสาธารณูปโภค ฯลฯ นอกจากประโยชน์เพื่อการออกโฉนดแล้ว แผนที่ชุดดังกล่าวยังมีประโยชน์สำหรับกิจการของกระทรวงนครบาล คือการอินยีเนีย การศุขาภิบาล และกรมพลตระเวร กับเป็นประโยชน์ทั้งไฟฟ้า และรถไอ และสำหรับกรมโยธา คือถนน คลอง และการทำสะพาน แสดงให้เห็นว่าแผนที่ชุดนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 5 (บัณฑิต จุลาสัย, 2549) การสำรวจสะพานจากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2450 พบสะพานทั้งสิ้น 169 สะพาน กระจายตัวตามบริเวณต่างๆของกรุงเทพฯ และพบว่าในช่วง 42 ปีของรัชกาลที่ 5 จำนวนสะพานที่สร้างขึ้นในแต่ละปีมีไม่เท่ากัน (แผนภูมิที่ 1) สามารถสรุปได้ว่า ในช่วงเวลา 42 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 – 2455 ปีการสร้างสะพาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงคือ พ.ศ. 2411 – 2430, พ.ศ. 2430 – 2446 และ พ.ศ. 2447 – 2453 อันแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาระบบการคมนาคมทางบกที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ช่วงปี พ.ศ. 2411 – 2430 เป็นช่วงต้นรัชกาล สะพานมีการสร้างโดยเฉลี่ยเท่ากัน เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านข้อมูล ทำให้ไม่สามารถระบุปีที่สร้างสะพานที่แน่นนอนได้ จึงกำหนดเป็นช่วงอายุตามที่ปรากฏในหลักฐาน คือ สารบัญชีปีพ.ศ. 2425 และ พ.ศ. 2426 และเอกสารจดหมายเหตุ ความเห็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมพระนเรศ (พ.ศ. 2411 – 2430) ในช่วงปี พ.ศ. 2430 – 2446 เป็นช่วงที่มีการสร้างสะพานในแต่ละปีสูงกว่าช่วงอื่น โดยเฉพาะ ปี พ.ศ.2443 มีการสร้างสะพานมากที่สุด โดยสร้างสะพานทั้งหมด 14 สะพาน และ ในช่วง พ.ศ. 2446 – 2453 เป็นช่วงที่มีการสร้างสะพานในแต่ละปีสูงรองลงมาจากช่วงปี พ.ศ. 2430 – 2446 ย่อมแสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2430 – 2446 เป็นช่วงที่มีการพัฒนาระบบการคมนาคมทางบกที่มากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5


ที่ตั้งและช่วงเวลาการสร้างสะพานที่สัมพันธ์กับการขยายตัวของเมือง จากการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งสะพานจากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2450 ทำให้แบ่งเขตพื้นที่กรุงเทพออกเป็น 5 ส่วน คือ 1) ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่ง ตะวันออกถึงคลองคูเมืองเดิม 2) คลองคูเมืองเดิมถึงคลองรอบกรุง 3) คลองรอบกรุงถึงคลองผดุงกรุงเกษมถึงคลองผดุงกรุงเกษม 4) พื้นที่นอกเขตผดุงกรุงเกษม ตอนเหนือ(สวนดุสิต) และ 5) พื้นที่นอกเขตผดุงกรุงเกษม ตอนใต้ (ประทุมวัน บางรัก บ้านทวาย) ควบคู่กับการศึกษาปีที่สร้างสะพานในช่วงเวลาต่างๆ 3 ช่วงเวลา คือ พ.ศ. 2411 – 2430, พ.ศ. 2430 – 2446 และ พ.ศ. 2446 – 2453 สามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ตำแหน่งที่ตั้ง และปีที่สร้าง เพื่อพิจารณาพัฒนาการการขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาทั้ง 3 ช่วงเวลาภายในพื้นที่ 5 ส่วน ดังนี้คือ

เนื้อหา

ช่วง พ.ศ. 2411 – 2430

ซึ่งเป็นช่วงต้นรัชกาล มีสะพานในกรุงเทพฯรวมทั้งสิ้น 39 สะพาน จำนวนดังกล่าวนี้ ได้จากฐานข้อมูลแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450 ตรวจสอบกับแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2430 และรายงานเรื่องการสำรวจสะพานทั้งหมดในกรุงเทพฯ ของพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ประกอบด้วยสะพานข้ามคลองขนาดใหญ่   13 สะพาน ขนาดกลาง 9 สะพาน และสะพานข้ามคลองท่อ (คลองขนาดย่อม) 17 สะพานโดยอาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานี้สร้างสะพานเฉลี่ยปีละ 2 สะพาน และเมื่อวิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งของสะพานเหล่านี้พบว่า ในช่วง พ.ศ. 2411 – 2430 สะพานมีการกระจายตัวอยู่บริเวณระหว่างคลองคูเมืองเดิมและคลองรอบกรุง เหนือถนนเจริญกรุงขึ้นไป และพบว่าคลองหลักที่พบสะพานมากที่สุด คือคลองคูเมืองเดิมและคลองผดุงกรุงเกษม พบสะพานข้ามคลองละ 5 สะพาน นอกจากนี้พบว่าถนนที่มีสะพานข้ามคลองมากที่สุด คือ ถนนบำรุงเมือง พบสะพานทั้งสิ้น 9 สะพาน (ภาพที่ 6)  ดังแสดงให้เห็นว่าเมืองในช่วง พ.ศ. 2411-2430 การเติบโตของเมืองทางด้านการคมนาคมนั้นมีความหนาแน่นบริเวณระหว่างคลองคูเมืองเดิมและคลองรอบกรุง เหนือถนนเจริญกรุง และเมืองนั้นได้ขยายตัวผ่านเส้นถนนบำรุงเมืองที่ทอดจากพื้นที่พระนครภายในเขตคลองคูเมืองเดิม ออกไปถึงย่านประทุมวัน

ช่วง พ.ศ. 2430 – 2446

เป็นช่วงที่มีสะพานถูกสร้างทั้งหมด 75 สะพาน โดยพบว่าบริเวณตั้งแต่คลองรอบกรุงถึงคลองผดุงกรุงเกษม เป็นพื้นที่ที่มีสะพานมากที่สุด โดยจะเห็นได้ว่าการกระจุกตัวสะพานมากได้เปลี่ยนจากพื้นที่ระหว่างคลองคูเมืองเดิม และคลองรอบกรุง มาเป็นพื้นที่ระหว่างคลองรอบกรุง และคลองผดุงกรุงเกษมแทน แสดงให้เห็นว่าเมืองมีการขยายจากพื้นที่ ระหว่างคลองคูเมืองเดิม และคลองรอบกรุง มายัง พื้นที่ระหว่างคลองรอบกรุง และคลองผดุงกรุงเกษม ผ่านการพัฒนาเส้นทางสัญจรที่มีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น (ภาพที่ 7)

นอกจากนี้ หากพิจารณาการกระจายตัวแต่ละปีในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่า กระจายตัวของสะพานในช่วง พ.ศ. 2431 – 2442 นั้นอยู่บริเวณระหว่างคลองรอบกรุงและคลองผดุงกรุงเกษม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่ตอนใต้ของพระนคร ย่านสำเพ็ง เยาวราช จนถึงถนนวรจักร มีการกระจุกตัวของสะพานในบริเวณเหล่านี้มากกว่าบริเวณอื่นเนื่องด้วยในช่วงนี้มีการตัดถนนบริเวณย่านเยาวราชเพื่อให้สามารถทำการค้าขายได้สะดวก ประกอบกับการป้องกันอัคคีภัยที่เกิดขึ้นบ่อยในบริเวณนี้ (ปิยนาถ บุนนาค, 2518) นอกจากนี้การที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนผดุงกรุงเกษม ขนานกับคลองผดุงกรุงเกษมทางด้านใต้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้คนหันมาใช้เส้นทางบกแทนการสัญจรทางน้ำ (เกื้อกูล ยืนยงอนันต์, 2520) ทำให้เกิดสะพานบนถนนเส้นนี้มากที่สุดคือ 10 สะพาน เนื่องจากถนนได้ตัดทับเส้นทางน้ำที่เป็นโครงข่ายของคลองผดุงกรุงเกษมที่เชื่อมโยงเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อใช้ในการคมนาคม สาธารณูปโภค และเป็นตัวกำหนดขอบเขตให้กับพื้นที่สำคัญอย่างเช่น วัด บ้านเรือน เป็นต้น โดยอาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาพ.ศ. 2431 – 2442การเติบโตของเมืองทางด้านการคมนาคมนั้นมีความหนาแน่นบริเวณระหว่างคลองรอบกรุงและคลองผดุงกรุงเกษม โดยเฉพาะพื้นที่ตอนใต้ของพระนคร แต่ช่วง พ.ศ. 2443 – 2446 เป็นช่วงสร้างถนนราชดำเนิน โดยการกระจายตัวของสะพานในช่วง พ.ศ. 2443 – 2449 นั้นอยู่บริเวณพื้นที่ระหว่างคลองรอบกรุงและคลองผดุงกรุงเกษมทางด้านเหนือ ในพื้นที่ถนนสี่สายมาบรรจบกัน คือ ถนนราชดำเนิน ถนนดำรงรักษ์ ถนนหลานหลวง และถนนตลาด รวมไปถึงถนนในพระราชวังดุสิต อันแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลานี้การเจริญของเมืองเริ่มขยายไปทางด้านเหนือ เนื่องด้วย มีการสร้างพระราชวังดุสิตทำให้มีการสร้างถนนเพื่อเชื่อมต่อระหว่างพระบรมมหาราชวังและพระราชวังแห่งใหม่ (ม.ร.ว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, 2534) ซึ่งแต่ก่อนเป็นชานเมืองที่ไม่ค่อยมีผู้คนอาศัยอยู่ การจราจรน้อยมีเพียงเส้นทางของถนนสามเสนเท่านั้นที่ขึ้นไปยังชานเมืองทางด้านเหนือได้

ช่วง พ.ศ. 2446 – 2453

เป็นช่วงปลายรัชกาลนี้มีสะพานที่ถูกสร้างทั้งหมด 40 สะพาน สะพานมีการกระจุกตัวในบริเวณสวนดุสิต โดยเฉพาะบริเวณคลองเม่งเส็งทางตอนล่างที่เชื่อมต่อกับคลองผดุงกรุงเกษม และพื้นทางด้านเหนือตามแนวถนนสุโขทัยและราชวิถี อันเกิดจากการขยายตัวของเมืองต่อเนื่องจากช่วงปี พ.ศ. 2431 – 2446  จากบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ขยายขึ้นมาถึงคลองสามเสน นอกจากนี้ บริเวณด้านใต้ระหว่างคลองรอบกรุงและคลองผดุงกรุงเกษม โดยเฉพาะย่านวัดสัมพันธวงศาราม ตลอดจนตามแนวถนนเจริญกรุง แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าว เมืองได้ขยายต่อเนื่องขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงคลองสามเสน อันเป็นผลต่อเนื่องจากการสถาปนาวังสวนดุสิตขึ้นเป็นพระราชวังดุสิต ควบคู่กับการขยายตัวทางด้านใต้ลงไปตามแนวถนนเจริญกรุงตอนนอกพระนคร (ภาพที่ 8)  

สรุปในภาพรวม จะเห็นได้ว่าสะพานในกรุงเทพฯจากแผนที่ประวัติศาสตร์ พ.ศ. 2450 ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชกาล มีทั้งหมด 169 สะพาน ซึ่งเพิ่มจาก ช่วง พ.ศ.2430 ที่มีสะพานเพียง 39 สะพาน แสดงให้เห็นว่ามีการเจริญเติบโตของเมืองทางด้านการสัญจรทางบกนั้นสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ยังสามารถกล่าวได้ว่า สะพานในรัชกาลนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นการเจริญเติบโตของกรุงรัตนโกสินทร์ จากภายเขตพระนครในคลองคูเมืองเดิม ออกมายังพื้นที่ด้านนอกคลองผดุงกรุงเกษม โดยในแต่ละช่วงเวลาที่สะพานถูกสร้างขึ้นแสดงให้เห็นการเติบโตของเมืองในทิศทางต่างๆ ในช่วงต้นรัชกาลนั้น (พ.ศ. 2411 – 2430) เมืองมีการขยายตัวในบริเวณพื้นที่ระหว่างคลองคูเมืองและคลองรอบกรุงโดยมีถนนบำรุงเมืองเป็นแนวแกนในการขยายตัวออกไปยังพื้นที่รอบนอก ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2430 – 2446 เมืองมีการเจริญเติบโตบริเวณย่าน สำเพ็ง เยาวราช เนื่องด้วยการตัดถนนเพื่อรองรับกิจกรรมการค้าในบริเวณนี้ที่มีการขยายตัวค่อนข้างสูง และในบริเวณย่านสะพานผ่านฟ้า และพื้นที่สวนดุสิต เป็นผลมาจากการตัดถนนเพื่อรองรับการวังสวนดุสิตที่เกิดขึ้นใหม่ อันก่อให้เกิดการขยายตัวของเมืองไปทางด้านเหนือ ส่วนในปลายรัชกาลคือ พ.ศ. 2446 – 2453 เมืองได้ขยายตัวไปยังพื้นที่รอบนอกคลองผดุงกรุงเกษมโดยเฉพาะพื้นที่สวนดุสิต ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการสถาปนาวังสวนดุสิตขึ้นเป็นพระราชวังดุสิต เมืองขยายต่อเนื่องขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงคลองสามเสน ส่วนทางทิศใต้ ตัวเมืองขยายลงไปตามแนวถนนเจริญกรุงตอนนอกพระนคร ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สะพานเป็นตัวชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวของเมือง ในช่วงปีที่มีการสร้างสะพานโดยเฉลี่ยมากที่สุด คือช่วงปี พ.ศ. 2430 – 2446 บริเวณระหว่างคลองรอบกรุงและคลองผดุงมีการขยายตัวมากที่สุด ทั้งตอนใต้บริเวณย่านสำเพ็ง และตอนเหนือบริเวณสะพานผ่านฟ้า อันเกิดจากการสร้างพระราชวังดุสิต

ไฟล์:D:\master thesis\บทที่3.jpg

อ้างอิง

references/

บรรณานุกรม สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 น. 5.1 “ความเห็นกรมหมื่นนเรศวร ว่าด้วยเรื่องคลองและสะพานข้ามคลอง”

       (ร.ศ. 106 – ร.ศ. 110)

กนกวลี ชูชัยยะ. 2544. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสภา เกื้อกูล ยืนยงอนันต์. 2520. การพัฒนาการคมนาคมทางบก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ :

       หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. 2534. องค์ประกอบทางกายภาพกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. บัณฑิต จลาสัย และ เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร. 2550. หนังสือแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2450 – พ.ศ. 2550. กรุงเทพมหานคร ปิยนาถ บุนนาค. 2518. รายงานผลการวิจัยเรื่อง การวางรากฐานการคมนาคมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า

       เจ้าอยู่หัว. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. 

ปิยนาถ บุนนาค. 2518. รายงานผลการวิจัยเรื่อง การพัฒนาการคมนาคมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า

       เจ้าอยู่หัว. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. 

ปิยนาถ บุนนาค. 2520. คลองในกรุงเทพ : ความเป็นมา การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อกรุงเทพในรอบ 200 ปี

       (พ.ศ. 2325 – 2525). กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. 2551. พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ที่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ.

       กรุงเทพมหานคร: สถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย.

ศิริชัย นฤมิตรเรขการ. 2520. สะพานเก่ากรุงเทพฯ. กรุงเทพมหานคร: สยามสมาคม. อุดม เชยกีวงศ์. 2549. อนุสาวรีย์ วัด คลอง สะพาน ถนน ประเพณี ความเชื่อ. กรุงเทพมหานคร: ภูมิปัญญา.

เครื่องมือส่วนตัว