เทคนิคการจัดการเรียนรู้สุขศึกษายุคใหม่
จาก ChulaPedia
เทคนิคการจัดการเรียนรู้สุขศึกษายุคใหม่
ความสำเร็จของการเรียนการสอนสุขศึกษา คือ การที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุด ซึ่งการเรียนรู้สุขศึกษาจะเกิดขึ้นได้จากการที่ผู้เรียนมีความพร้อม มีทัศนคติที่ถูกต้อง มีแรงจูงใจ และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หรือมีสภาพการจัดกิจกรรมที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ความหลากหลายของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับสาระการเรียนรู้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยพิจารณาให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ มีส่วนร่วมมากที่สุดในการเรียนรู้ และเรียนรู้จากการค้นพบด้วยตนเอง
ประเด็นสำคัญของการจัดการเรียนรู้สุขศึกษา
1. สอนให้มีคุณธรรม การสอนให้มีคุณธรรมในเรื่องการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการสอนให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนให้เป็นคนดีมีคุณธรรม โดยเฉพาะในเรื่อง ความมีวินัย ซึ่งเน้นในเรื่องความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความอดทน ความซื่อสัตย์ เป็นการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง ไม่หลอกตนเองและผู้อื่น ตัวอย่างเช่น พ่อค้าแม่ค้าไม่ใส่สารปรุงแต่งอาหารที่ไม่มีมาตรฐานให้กับลูกค้า การซื่อสัตย์ในการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ เป็นต้น ความรับผิดชอบ เป็นการรับผิดชอบในสิ่งที่ดีและถูกต้องในเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ ตัวอย่างเช่น รู้จักรับผิดชอบในการปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ การรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของตนเอง การรับผิดชอบในเรื่องการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ความอดทน คือ การไม่ย่อท้อและมีจิตที่มุ่งมั่นในสิ่งที่ดี ตัวอย่างเช่น อดทนต่อความอยากรับประทานอาหารที่ชอบแต่ไม่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม เป็นต้น จึงต้องอดทนที่จะไม่รับประทานอาหารนั้นๆ
2. สอนให้นำการคิด
การสอนให้คิด ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
1.1 การคิดวิเคราะห์ ประกอบด้วย
1) จำแนก แยกแยะข้อมูล
2) จัดลำดับข้อมูล
3) รู้จักเปรียบเทียบ
4) เลือกแนวทาง
5) ประเมินและสรุป
1.2 การคิดสังเคราะห์ มีขั้นตอนดังนี้
1) ค้นคว้า
2) รวบรวม
3) จัดระเบียบ
4) สร้างแนวคิดใหม่
5) สรุปผล
1.3 การคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีลำดับขั้นดังต่อไปนี้
1) กำหนดหัวข้อเรื่อง / ประเด็นปัญหา
2) จำแนก จัดลำดับ
3) รวบรวมข้อมูล (ถูกต้อง / ชัดเจน / เชื่อถือได้ / ทันสมัย)
4) จัดระบบข้อมูล (จำแนกความแตกต่าง / จัดกลุ่มข้อมูล)
5) เชื่อมโยงความสัมพันธ์เชิงเหตุผล
6) พิจารณาทางเลือก
7) ประเมินและสรุปผลเพื่อนำไปใช้
3. สอนให้พิจารณาความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติ หรือ Knowledge (K)/ Attitude (A)/ Practice (P)
การจัดการเรียนรู้สุขศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ (K) ทัศนคติ (A) และการปฏิบัติ (P) นั้น จะต้องเน้นพฤติกรรมสุขภาพตามลักษณะและธรรมชาติของผู้เรียน
เทคนิคการจัดการเรียนรู้สุขศึกษา
เพื่อให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ผู้สอนอาจจัดการเรียนรู้ทางสุขศึกษาด้วยวิธีการต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1) เทคนิคการจัดอันดับการให้ค่า
การจัดอันดับการให้ค่า เป็นการให้ผู้เรียนจัดอันดับการให้ค่า เพื่อแสดงความคิดเห็น ทัศนคติของแต่ละบุคคล ไม่มีการประเมินว่า “ผิด” หลังจากให้ผู้เรียนจัดอันดับแล้ว ผู้สอนอาจถามผู้เรียนหรือเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีสิทธิ์เลือกตอบใหม่ได้ หากผู้เรียนมีความประสงค์ที่จะทำ และให้ผู้เรียนกล่าวรายงานหรือเขียนแสดงความรู้สึกว่า โดยทั่วไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไร และผู้เรียนมีความสามารถหรือเต็มใจที่จะทำอย่างไรกับเหตุการณ์นั้นๆ
2) เทคนิคการตัดสินใจและแก้ปัญหา
การตัดสินใจและแก้ปัญหา สามารถใช้เทคนิค 3Cs ดังนี้
- Clarify กำหนดปัญหาหรือสิ่งที่จะต้องตัดสินใจให้ชัดเจน (รู้ปัญหา)
- Consider พิจารณาทางเลือกหลายๆทางที่เป็นไปได้และคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้น
- Choose เลือกทางเลือกที่ดีที่สุด
3) เทคนิคการใช้ถ้อยคำหรือประโยคที่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบ
วิธีการนี้อาจใช้เมื่อจบบทเรียนหรือขณะเรียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายในห้องเรียน ซึ่งอาจเริ่มจากการเขียนประโยคหรือถ้อยคำ 2-3 ประโยคบนกระดาน แล้วให้ผู้เรียนลงคะแนนเสียง หลังจากนั้นก็มีการอภิปรายเหตุผลในการเลือก
ตัวอย่างประโยคหรือถ้อยคำที่ผู้เรียนสามารถแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบได้
1) ผู้ใหญ่ขับรถได้ดีกว่าเด็กวัยรุ่น
2) คนที่ขับรถเก่งย่อมไม่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
3) ผู้ที่ทำใบขับขี่รถยนต์ได้ ควรมีอายุตั้งแต่ 25 ปี
4). เทคนิค “ทำไม” (Why Technique)
การใช้ “Why of Why” Method มีลำดับขั้นตอนดังนี้
1.กำหนดสถานการณ์/ข้อเท็จจริง/เหตุการณ์
2.ใช้คำถาม “ทำไม”
3.ยอมรับ “คำตอบ”
4.เริ่มถามต่อ “ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น” เรื่อยๆ ไป..........จนไม่มีคำตอบ หรือ หวนกลับมาที่จุดเดิมใหม่
5) เทคนิค “การฝึกทักษะการต่อรอง”
การฝึกทักษะการต่อรองเป็นการฝึกการพูดหรือสื่อสารความรู้สึกหรือความต้องการในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้พูดและผู้ฟัง โดยพยายามหาทางออกที่ถูกวิธีจะช่วยให้ไม่เสียมิตรภาพหรือสัมพันธภาพที่ดี และปลอดภัยจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ช่วยให้บังเกิดผลดีแก่ฝ่ายที่อาจจะเสียเปรียบและช่วยประวิงเวลาที่จะเกิดความเสียหายหรือการขาดความรับผิดชอบได้ ซึ่งการต่อรองมักจะใช้กรณีที่เกิดปัญหาเฉพาะหน้าแล้วไม่สามารถปฏิเสธได้
6) เทคนิคการให้สัญญา
การให้สัญญา เป็นการกำหนดข้อตกลงกับตัวเองเป็นลายลักษณ์อักษร และให้มีผู้รับรู้เป็นพยานเพื่อป้องกันการผิดคำมั่นหรือสัญญากับตัวเอง โดยให้คำมั่นกับตัวเองว่าจะปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในเรื่องการดูแลสุขภาพ เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคของตนเองให้ดีขึ้น เช่น การสัญญาว่าจะเลิกกินของหวาน เลิกดื่มน้ำอัดลม หรือกินของจุบจิบ เป็นต้น
7) เทคนิค “การฝึกทักษะปฏิเสธ”
การฝึกทักษะการปฏิเสธ เป็นการฝึกการพูดหรือสื่อสารความต้องการที่จะไม่ปฏิบัติตามอีกฝ่ายหนึ่ง ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อผู้ปฏิเสธ ความหนักแน่นและความจริงจังในการปฏิเสธจึงมีความสำคัญมาก
8) เทคนิค “การฝึกทักษะทางอารมณ์”
การฝึกทักษะทางอารมณ์ เป็นการฝึกปฏิบัติเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการกับอารมณ์และความเครียดที่เกิดขึ้นได้ในทุกคน ดังนี้
1.ปล่อยใจให้ว่าง เพื่อยอมรับกับอารมณ์หรือความรู้สึกต่างๆ
2.ยอมรับความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ
3.พยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
4.แยกแยะความรู้สึกที่ไม่ดีหรือทางลบออก แล้วคิดในเชิงบวกหรือในทางสร้างสรรค์ (หยุด คิดในทางไม่ดี)
5.สูดลมหายในลึกๆยาวๆ
6.นับ 1 – 10 หรือนับไปเรื่อยๆอย่างช้าๆ
7.พยายามหาทางออกหรือทางแก้ไข
9) เทคนิคการใช้แบบประเมินหรือแบบสอบถาม
การประเมินตนเอง เป็นการประเมินความรู้สึกหรือความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของตนเอง ซึ่งจะใช้แบบประเมิน หรือแบบสอบถามก็ได้
10) เทคนิคการแสดงบทบาทสมมติ แบบเก้าอี้ว่างเปล่า (Open- Chair)
1. เป็นการแสดงบทบาทกับสิ่งที่ไม่มีตัวตน คนที่ตายแล้ว หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในที่นั่น (โดยใช้รูปภาพหรือเก้าอี้ว่างเปล่าแทน)
2. เป็นการแสดงบทบาทกับตนเอง กล่าวคือ พูดกับตัวเองต่อหน้าคนที่ตายแล้ว หรือเก้าอี้ว่างเปล่า
3. เป็นการแสดงบทบาทเป็นคนอื่น (ตรงกันข้ามกับข้อ 1) เช่น แสดงเป็นคนที่ตายแล้ว หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในที่นั้น
4. การแสดงบทบาทสมมติชนิดเก้าอี้ว่างเปล่า เป็นการแสดงบทบาทที่มีพลังมาก ให้ความรู้สึกที่เร้าใจ และเปิดโอกาสให้ผู้แสดงได้แสดงความรู้สึกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะบทบาทหรือเรื่องที่มีความยุ่งยากหรืออึดอัดใจ
11) เทคนิคการฝึกทักษะการแก้ไขข้อขัดแย้ง
กิจกรรมการฝึกทักษะการแก้ไขข้อขัดแย้ง อาจกระทำได้ ดังนี้
1. การตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อโต้แย้งที่นักเรียนเคยประสบมาก่อน และวิธีการแก้ไขข้อขัดแย้งเหล่านั้น
2. การระบุวิธีการแก้ไขข้อขัดแย้ง แล้วให้นักเรียนเลือกตอบวิธีการที่เคยใช้แก้ไขข้อขัดแย้ง
3. การกำหนดสถานการณ์เกี่ยวกับข้อโต้แย้งในใจ เพื่อให้นักเรียนหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ