เราคือลูกของแม่พระธรณี

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น


ผลพวงของการประกาศอิสรภาพจากการจัดจำแนกสายพันธุ์อันจำเจอยู่เพียง"เรื่องแต่ง(narrative)" หรือ "สารคดี(documentary)" ปฏิบัติการดั้นด้นค้นหาพิภพใหม่ทางภาพยนตร์จึงเกิดขึ้น

การเลี่ยงไปใช้นิยามอื่นเช่น เรื่องจริง(reality)ก็ใช่ว่าจะถอดชนวนปัญหาได้ราบคาบ แม้ว่าการฉายความเป็นจริงด้วยอารมณ์พาซื่อพลั้งปากจะถือเป็นทีเด็ดของหนังเหล่านี้ ในเมื่อประเด็นที่อยากจะจับให้มั่นคั้นให้ตายแตะต้องได้เพียงการตั้งแง่เหล่เขม้น สาระสำคัญของหนังเหล่านี้จึงเป็นการเปรยออกมาเท่าที่ยลยิน เถรตรงและถ่องแท้ และก็ไม่ใช่เรื่องจริงผักชีโรยหน้า(pre-arranged nonfiction)อันชวนตะขิดตะขวงใจอย่าง Nanook of the North งานดึกดำบรรพ์เมื่อค.ศ.1922 ของโรเบิร์ต ฟลาเฮอร์ตี(Robert Flaherty)

ก็ถือเสียว่าความเป็นจริงนั้นไร้ธงปัก และในการสังเกตการณ์สังคมตามหลักวิทยาศาสตร์ก็พึงสังวรณ์คติของไฮเซนเบิร์ก(the Heisenbergian notion)ที่ว่า การใดเป็นจริงได้ย่อมมาจากสังเกตการณ์ ผิดจากนี้ล้วนมีโอกาสปนเปื้อนอัตวิสัยอันแฝงด้วยเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ สุญญากาศของภาพยนตร์กับอภาพยนตร์หรือกล่าวให้แคบเข้าคือพื้นที่รกร้างหลงหูหลงตาจากอาณัติข้อเท็จจริงอันหยาบกระด้างและเรื่องแต่งอันประณีตคือแหล่งซ่องสุมความเป็นไปได้บ้าบอคอแตกสารพัดขนาน

มาเริ่มต้นด้วยหัวหอกแห่งการปฏิวัติวงการ La Libertad งานค.ศ.2001 ของลิซานโดร อลอนโซ(Lisandro Alonso) เนื้อหาของหนังที่เป็นทั้งสารคดีและเล่าเรื่องของคนตัดฟืนชื่อมิซาเอล(Misael)พาคนดูมุดเข้าไปขลุกในหวอดลับแลแทรกอยู่ในภาวะคาบลูกคาบดอกในความเป็นหนัง

แนวโน้มดังกล่าวเป็นผลพลอยได้จากสำนึกเลยเถิด(hyperconsciousness)ร่วมต่อหนังและอิทธิพลของหนังและคนทำหนังก็เริ่มตระหนักว่าเล่ห์กลของพวกตนคงหลอกคนดูได้อีกไม่กี่น้ำ จึงต้องวิจิตรบรรจงเป็นพิเศษ

ไม่ว่าจะเข้าท่าหรือรนหาที่ แม่บทการผลิตงานดังกล่าวก็ฉุดกระชากหนังไถลออกจากปริมณฑลของสารคดีไปเข้าทางงานแนวประโลมโลกย์ก่อนจะเหวี่ยงกลับเข้าที่เดิมอีกที ยกตัวอย่างเช่นงานในค.ศ.2007 ของโฆเซ หลุยส์ ตอร์เรส เลวา(Jose Luis Torres Leiva)เรื่อง The Time That Rests(ต่อยอดงานของเฟรดริก ไวส์แมน(Fredrick Wiseman)ด้วยปณิธานกวี) The Session Is Open(หนังว่าความหักหาญความรู้สึกที่ไม่มีพระ-นาง) งาน ค.ศ.2006 ของ วินเซ็นโซ มาร์รา(Vincenzo Marra) และ The Ghost of Cite Soleil งานค.ศ.2006 ของเอสเกอร์ เล็ธ(Asger Leth) หนังสัจนิยมเพื่อสังคมแนวกำปั้นทุบดินแปลงร่างเป็นเศษหนังข่าวโฆษณาชวนเชื่อของไวคลิฟ ฌ็อง(Wyclef Jean)ในพริบตา ดาวโรจน์ในชั่วไม่กี่ปีหลังมานี้ต้องยกให้ภาพยนตร์ประเภทสรรหาและคลุกคลีอยู่กับกิจกรรม ณ พื้นผิวปฐพีของมนุษย์

หนึ่งในผลงานโดดเด่นเป็นหัวโจกของงานแนวนี้ย่อมต้องมี Elsewhere งานค.ศ.2004 ของผู้กำกับนิโคลอส กีราลเตอร์(Nikolaus Geyrhalter)รวมอยู่ด้วย หนังความยาว 4 ชั่วโมงเรื่องนี้เป็นบทบันทึกความเป็นไปในชั่ว 12 เดือนจาก 12 ภูมิภาค มีตั้งแต่ภาพกิจวัตรของชาวแลปไปจนถึงชาวหมู่เกาะไมโครนีเชีย สะท้อนให้เห็นความล้าหลังและรุดหน้า ประหนึ่งขาข้างหนึ่งของพวกเขาเหยียบย่างอยู่ในคริสตศตวรรษ 21 ขณะที่ขาอีกข้างหนึ่งยังหยั่งยืนอยู่ในคริสตศตวรรษ 12

แต่งานของอุรุพงษ์ รักษาสัตย์ไปไกลกว่าใครในขบวนการนี้ Stories from the North งานค.ศ.2005 ของเขาเป็นการรวบรวมภาพแรงงานและสภาพชนบทแถบอีสานของไทยเจือกับท้องเรื่องและคาบการเล่าอันเกิดจากการจัดแจงอันอาจถือเป็นการลองมือก่อนสะบัดลวดลายเต็มคราบในชิ้นใหม่คือ Agrarian Utopia(สวรรค์บ้านนา) งานสุดล้ำชิ้นล่านี้เป็นทั้งภาพในอุดมคติ ชื่อหนังก็แดกดันแรงบันดาลใจ ปณิธาน และสภาพการณ์ของผู้กำกับสายนี้

แล้วหนังเหล่านี้ต้องการสะท้อนคุณค่าอันใด เป็นต้นว่าขณะที่ผู้กำกับ นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมผู้เจนจบ นักชาติพันธุวรรณาผู้ละเอียดละออ และช่างภาพติดตั้งอุปกรณ์บันทึกเสียงฝูงสัตว์อันเป็นประธานของฉากนั้น พวกเขาทำไปเพื่อเก็บสุ้มเสียงให้ใกล้เคียงความจริงกระนั้นหรือ แล้วจะจัดการกับสรรพสำเนียงจากแหล่งอื่น ๆ ซึ่งอยู่พ้นหางตาของกล้องออกไปนั้นเล่า จัดฉากรึเปล่าหรือจะนับว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการใช้เสียงในกระบวนการบริหารกองถ่ายงานสารคดี หรือจะให้ตีค่าเป็นอย่างอื่น

พิจารณาเฉพาะลูกเล่นการใช้เสียง ต้องยอมรับในความระห่ำของกระบวนท่าการเล่า Sweetgrass ของลูเชียน กัสแตง-เทย์เลอร์(Lucien Castaing-Taylor)ผู้กำักับประจำศูนย์ภาพยนตร์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและห้องปฏิบัติการวัดค่าทางชาติพันธุวรรณาและอิลิซา บาร์บาช(Ilisa Barbash)ภัณฑารักษ์ประจำส่วนจัดแสดงผลงานทางมานุษยวิทยาในพิพิธภัณฑ์พีบอดี(Peabody)แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Sweetgrass บรรยายถึงกิจกรรมเพ้อพกฟุ้งฝันเบื้องหลังการถ่ายทำหนังว่าด้วยแกะและคนเลี้ยงแกะ ตลกไว้ลาย จากการที่คณะทำงานทุ่มสุดตัวโดยหมายจะฝากผลงานที่มีชนบทมอนทานาเป็นฉากหลังนี้ใว้เป็นอนุสรณ์ ในฐานะผลงานศิลปะทางมานุษยวิทยาชิ้นแรกและล้ำหน้าเกินใครหนังเรื่องนี้ไม่อาจถือได้ว่าเกิดจากการกำกับ

กัสแตง-เทย์เลอร์นิยามตนเองว่าเป็นนักบันทึก(recordist) อันเป็นการขยายขอบเขตภารกิจหรือเนื้อหาของหนังเหล่านี้ซึ่งรวมถึง Sweetgrass ด้วย ไปเข้าข่ายเป็นภาพตัวแทนและการสังเกตการณ์ ก่อนหน้างานของเจมส์ เบ็นนิง(James Benning)จะแจ้งเกิดร่วมทศวรรษ ศิลปินอย่างกีราลเตอร์รวมถึงผู้เจริญรอยตามชาวออสเตรียนปีเตอร์ ชไรน์เนอร์(Peter Schreiner)พยายามยกระดับหนังวิทยาศาสตร์และแปลงโฉมเสียใหม่ จะเห็นได้ว่าความเคลื่อนไหวของเครื่องจักรการเกษตรใน Our Daily Bread นั้นเหมือนการร่ายรำไม่มีผิด ขณะที่ชไรน์เนอร์พลิกโฉม Sappada เมืองในแถบอัลไพน์เป็นภูมิทัศน์สุดหลอนจิต เวลาพร้อมใจกันหยุดเคลื่อนไหวและไม่เหลือเค้าความทรงจำเดิม ๆ ต่อพื้นที่แห่งนี้ เมื่อปรากฏใน Bellavista งานค.ศ.2006 ของเขา

แม้แต่งานที่มีโครงสร้างการเล่ารัดกุมเช่น Anchorage ของซี ดับเบิลยู วินเตอร์(C.W. Winter)และแอนเดอร์ส เอ็ดสตรอม(Anders Edstrom) เจ้าของรางวัล The Filmmaker of the Present )ประจำค.ศ.2009 ของเทศกาลภาพยนตร์(Locarno film festival) หนังเก็บเหตุการณ์เฉพาะช่วงวันสำคัญ ๆ ในชีวิตของหญิงสาวชาวเกาะแห่งหนึ่งของสวีเดน กับการนับถอยหลังสู่การไปเผชิญหน้ากับครอบครัวและคนแปลกหน้าผู้ลึกลับ

หนังยังมีกลิ่นของงานวิทยาศาตร์ภาคสนามราวกับเพิ่งพ้นอ้อมกอดของปรัมปราโบราณและฌ็อง เอ็ปชไตน์มาหยก ๆ

หนังเหล่านี้ทิ้งตัวจากวงโคจรของสารคดีสู่บ่วงแรงโน้มถ่วงที่อาจมีสรรพคุณเป็นเรื่องเล่าปลอดปม(a nonfiction feature) แต่การพะยี่ห้อดังเหมือนเกาไม่ถูกที่คัน เพราะกลับมีเรื่องแต่งแปลงโฉมมาในคราบเรื่องไม่แต่ง(อย่างที่เห็นมากต่อมากใน The Anchorage)และในทางผวน(เช่นใน Bellavista) การงัดข้อย้อนเกล็ดกับธรรมชาติถือเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของหนังแนวนี้ พูดไปทำไมมี การจำแนกหมวดหมู่ย่อมหมดความหมาย หากอะไรต่อมิอะไรล้วนจะแจ้งไร้ข้อกังขา

ในการจัดหมวดหมู่ตีตรา Sweetgrass ตามเว็บ บางครั้งการบรรยายสรรพคุณของหนังก็สร้างความครื้นเครงได้ไม่น้อย เห็นได้จากคุณสมบัติของหนังเรื่องนี้จากเว็บ ๆ หนึ่งที่ร่ายไว้เป็นบัญชีหางว่าวว่า เป็นหนังเกี่ยวกับ ภูมิทัศน์(landscape) สัจนิยม(realism) ศิลปะวิดิทัศน์(video art) งานจัดวาง(installation) ดิจิตอล(digital) แกะ(sheep) การกสิกรรม(farming) มานุษยวิทยา(Anthropology) ดูจากคุณสมบัติหนังเรื่องนี้จับฉ่ายและสำส่อนสิ้นดี อย่างไรก็ตาม การลงสรรพคุณไว้ยืดยาวเช่นนั้นอาจเท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นของการอ่อนข้อให้กับคุณลักษณะพิเศษของ Sweetgrass ในบางมิติ รวมถึงเป็นการสารภาพกลาย ๆ ว่าแบบแผนการจำแนกเท่าที่มีอยู่นั้นคับแคบและอับจนปัญญาเกินกว่าจะจัดสรรพิกัดอันเหมาะสมกับงานประเภทนี้ได้ วงเสวนาที่เทศกาลนานาชาตินครเบอร์ลินเรียกขานหนังเรื่องนี้ว่า"หนังเลี้ยงแกะ"และวงการก็รู้จักหนังเรื่องนี้ด้วยสมัญญาดังกล่าวมาเป็นสาย นัยหนึ่งแสดงถึงการเป็นที่ยอมรับระดับหนึ่งของหนังแม้ดูเหมือนจะยังเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับมิติการเมืองของหนัง

กล่าวสำหรับ Sweetgrass ตลอดจน สวรรค์บ้านนา รวมถึง Los Herederos งานค.ศ.2006 ของยูจีนิโอ โพลกอฟสกี(Eugenio Polgovsky) พลังขับเคลื่อนของภาพตัวแทนกิจกรรม ณ พื้นผิวปฐพี คือความทุกข์เวทนาเหลือคณานับอันเกิดแก่กระบวนการล่มสลายและอวสานของสรรพสิ่ง เคียงขนาบด้วยนาฎกรรมน้ำท่วมปากของมนุษยชาติผู้ดักดานอยู่ในสังสารวัฏ

การเมืองในหนังนั้นหนักอึ้งด้วยความเคืองแค้น และดุดัน เนื่องจากคนทำหนังผู้บันทึกถ่ายทอดเหล่านี้ปฏิเสธการระบายความเหลืออดด้วยวจนภาษา อุรุพงษ์กล้าเข้าประชิดแนวรบสมรภูมิเศรษฐกิจกว่าใครเพื่อน สวรรค์บ้านนาแรงตั้งแต่ออกตัว ด้วยประโยคแรกจากปากตัวละครชาวนาไร้ที่ดินทำกินที่รำพึงว่า เป็นหนี้นั้นเรื่องง่าย แต่ใช้หนี้นั้นไม่อยากคิด โดยทั่วไปภารกิจทางศีลธรรมของแนวคิดทางการเมืองหยุดอยู่แค่รับชมรับฟัง แต่อุรุพงษ์ทุ่มกับการเมืองสุดตัว ผ่านฉากเปิดเรื่องและบทส่งท้ายของสวรรค์บ้านนา

ภาพนักการเมืองบ้านนอกของไทยในสวรรค์บ้านนาเจนจัดอยู่ 2 เรื่อง หนึ่งคือสาดโคลนใส่ฝ่ายตรงข้าม กับสองคือวาดวิมานในอากาศมอมเมาชาวบ้านไปเรื่อย สัมมะหาอันใดกับจิตวิญญาณกระดูกสันหลังของชาติ อุรุพงษ์ปวารณาหนังของเขาต่างผืนธรณีบ่มเพาะและฟูมฟักเมล็ดพันธุ์ความคิดรอการหยั่งรากและเบ่งบานเท่าที่ชั่วความยาวหนังหนึ่งเรื่องจะเอื้ออำนวย ก็อย่างที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ นักการเมืองไม่ว่าจะในสหรัฐหรือทั้งโลกต่างเป็นนักขายฝันตัวยง พล่ามแต่ถ้อยคำหวานหูกล่อมเจ้าของบัตรเลือกตั้ง นักเลือกตั้งตามทัศนะจากกล้องและเครื่องบันทึกเสียงของอุรุพงษ์ไม่ได้บ้องตื้นขั้นรุนแรงเหมือนผู้มีส่วนได้เสียในระดับสาธารณะอันเป็นเดิมพันที่สาธารณชนพร้อมใจกันทุ่มเทสรรพกำลังเข้าร่วมสังฆกรรม

หนังหมกเม็ดวางยาตั้งแต่ไว้หัวเรื่องเช่นนั้น ก่อนเข้าเรื่องราวของบรรดาชายหนุ่มจากสถานประกอบการทันสมัยบ่ายหน้าสู่แปลงนาปลูกข้าวแบบดั้งเดิม ทั้งนี้เพื่อฉายภาพความต้อยต่ำสูงส่งของมนุษย์ ในถ้อยแถลงของอุรุพงษ์ เขาเทิดทูนงานกสิกรรมว่า"เป็นหนึ่งในอาชีพอันทรงเกียรติยิ่งของมวลมนุษยชาติ" แต่เหล่านักการเมืองก็ทำระยำตำบอนกับภาคเกษตรจนไม่เหลือดี (พ่อแม่เขาเป็นชาวนามาจนกระทั่งธนาคารมายึดที่ทำกินไปจนเกือบหมด)

ทว่า เรื่องก็กลับโอละพ่อ ประเด็นที่อุรุพงษ์คงขี้เกียจอธิบายแก่คนดูก็เป็นเรื่องที่ไม่แคล้วโดนพวกถือคัมภีร์ก่นด่าก็คือชาวนาในเรื่องนี้ สวมบทโดยนักแสดง ท้องที่เหตุการณ์อันแสนเจริญตาเจริญใจราวสวรรค์บนดินของหนังเบื้องหลังตัวละครเหล่านั้นก็ผ่านการเลือกเฟ้นมาเป็นอย่างดี กล่าวคือ เป็นแผ่นดินทองของภาคเหนือของไทยด้านที่ติดกับชายแดนลาว โอบประกบด้วยเทือกเขาด้านหนึ่งและวัดร้างอีกด้านหนึ่ง และด้วยเหตุที่การปลูกข้าวตามแบบแผนดั้งเดิมสูญหายไปจากดินแดนที่ได้ชื่อว่าอู่ข้าวอู่น้ำของเอเชียอาคเนย์แห่งนี้เสียแล้ว พอได้ฉากหลังตามที่หมายตาอุรุพงษ์จำเป็นต้องขอเช่าผืนนาที่หมายตาให้เป็นฉากหลังแปลงนั้นล่วงหน้าการถ่ายทำเป็นปี ตลอดจนการคัดตัวชาวบ้านแถบนั้นมาเล่นบทในเรื่อง ไล่ตั้งแต่ชาวนาลูกหนี้ ไปจนถึงเคี่ยวกรำให้รับบทเป็นเจ้าของที่ดินผู้ศรัทธาในวิถีธรรมชาติ และอินทรีย์ กับการปล่อยให้สรรพสิ่งเป็นตามยถากรรม

(ความ"แปลกปลอม"ของเรื่องโผล่แพลมมาเป็นระยะ ผู้แสดงที่เล่นเป็นชาวนามักจะหลุดปากเรียกเจ้าของที่ดินว่าศาสตราจารย์ อันเป็นสถานะทางวิชาชีพในโลกความจริงของผู้สวมบท หรือพวกเขาทำงานให้คนสติเฟื่อง แต่เท่าที่น้ำอดน้ำทนในการเฝ้าบันทึกของอุรุพงษ์จะเอื้ออำนวย การทำนาตามกรรมวิธีดั้งเดิมก็ดูเป็นมรรคผลไม่มากไปกว่าปัญญาของลูกชายชาวนาคนหนึ่งมี)

สวรรค์บ้านนาเต็มไปด้วยบทบันทึกในความหมายของกัสแตง-เทย์เลอร์ หากได้มีการรับชมทั้ง Sweetgrass และ Los Herederos ควบกัน(ตราบเท่าที่งานเทศกาลจะดึงมาฉายใกล้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้)ก็จะรู้แจ้งเห็นจริงว่ากิจกรรมการเก็บบันทึกนั้นถือเป็นอีกหนึ่งวิชาชีพอันทรงเกียรติของมวลมนุษย์ จำต้องกล่าวด้วยว่าการบันทึกในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสักแต่เพียงการวางกล้องหรือติดตั้งอุปกรณ์ดูดซับเสียงตามที่วาดแผนการไว้และก็ไม่ใช่การกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องมือต่าง ๆ หากแต่หมายถึง การย่นระยะวิสัยทัศน์จากมุมมองหนึ่ง ๆ และจัดระเบียบด้วยกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์ผสมผสานด้วยสำนึกร่วมของตัวผู้สังเกตการณ์และขบคิดหาทางชักนำคนดูเข้าสู่โสตและเนตรวิถีของผู้บันทึก

กล้องเล่นกายกรรมให้ภาพแปลกตาอยู่ช่วงหนึ่งใน Sweetgrass มีการดึงภาพชะง่อนผาของเทือกเขา Absaroka-Beartooth เพื่อเก็บรายละเอียดซอกเขา แว่บแรกก็เลือนรางแยกแยะไม่ออก แล้วภาพทางเดินของแม่น้ำก็ค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่าง แลเห็นคดเคี้ยวไปตามโตรกผา จากนั้นจึงรี่เข้าหาฝูงแกะ และเจาะเข้าเก็บรายละเอียดของแกะตัวแล้วตัวเล่าที่เดินผ่านแนวลาดชัน แถวแกะนั้นชักผ่านไปเหมือนไม่มีวันสิ้นสุด นับเป็นการเก็บบันทึุกความเคลื่อนไหวของสัตว์อย่างแท้จริง รวมตลอดจนแทบทุกรายละเอียดของภูมิประเทศ ลูกเล่นการดึงภาพของกล้องฟ้องถึงธรรมชาติอันแปลกแยกของการสอดส่องความเป็นไปโดยกล้องต่อวัตถุอันเป็นเป้าความสนใจ(และในกรณีนี้ยังกินความไปถึงการตกเป็นเป้าหมายตาของนักล่าอีกด้วย)

แต่ฝีภาพนี้ก็เหมือนอีกหลายฝีภาพใน Sweetgrass กล่าวคือมีการเล่นแร่แปรธาตุรูปทรงขณะบันทึก เริ่มต้นด้วยภาพชวนตื่นตาจากมุมมองแผลง ๆ ไปยัง Absoraka-Beartooth เส้นสายลวดลายเหมือนงานประติมากรรมจากนั้นบ่ายหน้าไปเพ่งสำรวจรูปทรงฝูงแกะ แปลกตา ดิบเด่น เช่นเดียวกับแม่แบบในธรรมชาติอื่น ๆ จากเนินภูทรายทรุดไถลในเวิ้งยักษ์ สู่ขบวนอันเร่งรีบของฝูงมด ความสวยคลี่คลุมจอ การสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์แปลงโฉมมาเป็นผลงานทัศนศิลป์

ภาพเหตุการณ์ทำนองนี้มีให้เห็นเป็นปกติในหนังทั้ง 3 เรื่องนี้ ทว่าก็ส่งผลผิดแผกกันโดยสิ้นเชิง ช่วงต้นเรื่องระหว่างที่ศาสตราจารย์ตระเตรียมดครงการเพราะปลูก จะมีภาพชาวนาค่อย ๆ ปูไม้กระดานแผ่นทีละแผ่น ๆ จนเต็มพื้นที่ลานตากผลผลิต แล้วทะนานเมล็ดพืชก็โถมกระหน่ำเข้าท่วมก่อนกระจายตัวเกลี่ยราบไปกับพื้น อุรุพงษ์เก็บภาพความเคลื่อนไหวดังกล่าวราวกับการรังสรรค์งานจิตรกรรมหรือการร่ายรำ โพลกอฟสกีก็เช่นกันผิดกันเพียงตัวเขาเองกระโจนเข้าร่วมวงออกลีลาผสมโรงกับตัวเดินเรื่อง ช่วงค.ศ.2001 ถึง 2003 กัสแต็ง-เทย์เลอร์และบาร์บาชตระเวณเก็บภาพการเลี้ยงแกะของบ้านตระกูลอัลสตัดส์(Allestads)อเมริกันเชื้อสายนอร์วิเจียน รวมถึงการดำเนินกิจการปศุสัตว์บ้านอื่น ๆ ในมอนทานา (เช่นเดียวกับคนงานทำไม้ซุงก๊วนสุดท้ายใน Timber Gang ของยู(Yu) มีการระบุในรายการอ้างอิงท้ายเรื่องไว้ว่า พอถึงค.ศ.2003 การเลี้ยงแกะไล่ทุ่งก็หมดสิ้นไปจากดินแดนดังกล่าว) โพลกอฟสกีใช้เวลา 2 ปีรอนแรมไปตามชนบบทไกลปืนเที่ยง กันดารและข้นแค้น ตามรัฐต่าง ๆ ของเม็กซิโก เช่น Guerrero Nayarit Oaxaca Sinaloa Puebla และ Veracruz และเขาก็ประกอบวีรกรรมเช่นเดียวกับในผลงานชิ้นแรกคือ Tropic of Cancer เมื่อค.ศ.2004 ด้วยการเข้าไปคลุำกคลีตีโมงเก็บภาพความยากจนอนาถาในทุกหนแห่งที่ไปถึง

ในแง่นี้และเฉพาะในแง่นี้เท่านั้น เขากำลังสืบทอดหลักปฏิบัติของ cinema verite ปล่อยให้พฤติกรรมของคนต้นเรื่องเป็นเข็มทิศแก่โวหารภาพ(mise en scene) เหตุจากความใคร่รู้ของเขาเองที่ว่าเด็ก ๆ ในสังคมกสิกรรมชายขอบหาเลี้ยงชีพและดำรงชีวิตเช่นไร และเด็ก ๆ เหล่านี้ผสมผสานวิถีชีวิตเข้ากับการเลี้ยงชีพได้อย่างไร โพลกอฟสกีวิ่งและกระโดดโลดเต้นออกลิงออกค่างทั้งเบื้องหลังและเคียงข้างเด็ก ๆ ฉันใดก็ฉันนั้น แกะดูเหมือนจะไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว ต่างกันตรงที่ภายหลังผ่านกระบวนการทางห้องปฏิบัติการเสร็จสรรพหนังก็ถ่ายทอดออกมาด้วยอัตราเร็วเป็นห้าเท่าจากของจริง

แต่ที่ได้ผลน่าประหลาดกว่าใครในหมู่หนัง 3 เรื่องนี้ คือ Los Herederos หนังที่ไม่ต้องอาศัยการตีความให้วุ่นวายและมองเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากโจมตีสถานการณ์ทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจที่กระทำต่อกระดูกสันหลังของโลก ในรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลภาพยนตร์มอเรลเลียประจำปีค.ศ.2008 (2008 Morelia film festival) ทันทีที่แสงไฟในโรงฉายสว่างขึ้นหลังจากหนังเรื่องนี้จบลง คนดูทั้งโรงพร้อมใจกันตวัดสายตามายัง มาร์การิตา ซาวายา(Margarita Zavala)สตรีหมายเลขหนึ่งของเม็กซิโกเพื่อเป็นการประณาม อย่างไรก็ตามหนังเคลือบน้ำผึ้งแก่ใบมีดโกนด้วยความรื่นรมย์แทงใจดำ เด็ก ๆ สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ต่าง ๆ นานาให้เป็นเรื่องสนุก และไม่มีอาการเดือดเนื้อร้อนใจให้เห็น

กลยุทธของโพลกอฟสกีนั้นแยบคาย เขาแยกแยะจินตนาการในหัวของตนออกจากกันได้ หลังกล้องเขาสรวลเสเฮฮาไปกับเด็ก ๆ กล้องของเขาเป็นทั้งของเล่นแก่เด็ก ๆ และเครื่องมือเรียกความสนใจอันทรงประสิทธิผล เขาสานต่อขนบนิยมว่าด้วยพันธกิจทางประวัติศาสตร์ต่อสังคมของภาพยนตร์ละตินอเมริกันซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอุโฆษบุรุษอย่างเฟอร์นานโด โซลานาสคอยถือธงนำและสวมหมวกเป็นทั้งพยานและผู้บันทึก แล้วจึงกลั่นกรองด้วยความรู้สึกในฐานะผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ใบแบบภาพยนตร์ส่วนตัว เมื่อดูจากความวูบวาบและสมบุกสมบันของภาพหนัง

การปะทะระหว่างอารมณ์ขึ้งโกรธและปวดร้าวฝ่ายหนึ่งและสนุกครึกครื้นฝ่ายหนึ่งเป็นลูกถนัดของเหล่าผู้กำกับสารคดีสัญชาติอเมริกันที่หวังกรุยทางเข้าฉายในเทศกาลซันแดนช์แต่พอปลูกถ่ายปลูกถ่ายหน่อเนื้อมายังสังเวียนอย่างสวรรค์บ้านนากลับไม่ชูช่อสะพรั่งเยี่ยงเคย ดังจะเห็นได้จากภาพเหตุการณ์การส่งกล้องเข้าไปวิ่งไล่จับตามดูลูกหลานชาวนาปาโคลนใส่กัน แต่กลับได้ผลเกินคาดในฉากจบหักมุมของ Sweetgrass

กัสแต็ง-เทย์เลอร์และบาร์บาชหยอดภาพอันชวนตื่นตาของคนเลี้ยงแกะอเมริกันผู้ยึดมั่นกับวิถีชีวิตโคบาลยุคคริสตศตวรรษ 19 คนเหล่านี้ต้องหนักเอาเบาสู้สมบุกสมบันท่ามกลางสภาพแวดล้อมหฤโหด รวมถึงการกำจัดแกะอ่อนแอเพื่อรักษาฝูงไว้ กระทั่งพวกเขางัดวิทยุสื่อสารคลื่นสั้นหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกมาให้นั่นเองคนดูถึงได้เผ่นออกจากภวังค์กลับสู่ปัจจุบัน นับแต่บัดนั้นหนังก็หันมาเล่นกับอาการหลงยุคหลังสมัยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ฉากยอดเยี่ยมต้องยกให้ตอนฝูงแกะกรูกันไปตามเส้นทางสายหลักอันแห้งแล้งกลางหมู่บ้าน ตามมาด้วยเหตุการณ์แสนหดหู่ กล้องยังคงเดินหน้าบันทึกเหตุการณ์ ระหว่างนั้นก็มีเสียงคุยโทรศัพท์มือถือดังขึ้น คนต้อนแกะต่อสายคุยกับแม่ของเขา แล้วเหตุการณ์สุดสะเทือนใจก็มาถึง ภาพลักษณ์กร้านแกร่งทรนงองอาจของโคบาลป่นปี้ในพริบตานั้น ขณะเจ้าตัวหลั่งน้ำตาตัดพ้อความอเน็จอนาถของชีวิต "มีเรื่องแย่ ๆ ล่ะแม่ ระยำแท้ ผมจะคลั่งตายอยู่แล้ว หมาของผมเท้าเละหมดแล้ว มันเดินต่อไม่ไหว เข่าผมระบมไปหมด ปวดหัวเข่า ไอ้ตูบมันไม่ยอมกระดิกตัวออกมาช่วยงานผมแล้ว ปล่อยให้ม้าตายนี่เรื่องใหญ่นะ เหมือนกับเฉือนเนื้อเลาะกระดูกตัวเองทิ้งไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เลยละ ผมแค่ช่วยให้มันพ้นทุกข์ ทุกย่างก้าวของผม ตามมาด้วยเสียงลั่นกร๊อบ ทันไม่เจ็บหรอก แต่ก็อดสงสารมันไม่ได้ ปล่อยไว้ก็ทรมาน หุบเขานี่มันน่าจะให้ความเพลิดเพลินเจริญใจ กลับมีแต่เรื่องให้ฉุนขาด ไหงเป็นอย่างนี้ได้ ผมชักจะชังน้ำหน้ามันขึ้นมาแล้ว" ฉากหลักของ Sweetgrass หนักหนาสาหัสเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาเพราะถ้อยรำพันเชิงแดกดันดังกล่าวโดยแท้ เพราะอาการฟูมฟายของคนต้อนแกะนั้นมาพร้อมกับภาพสุดหรูหราอลังการโดยชม้ายหน้ากล้องจากขวาไปซ้ายเผยทิวทัศน์ปลายทางในฝันที่เหล่านักทัศนาจรที่มายังมอนทานายอมเอาชีวิตเข้าแลก

ไม่ว่าจะเป็นโพลกอฟสกีกับการลำดับภาพตามแนวคิดการสร้างความหลากหลาย โดยสร้างจังหวะแก่ Los Herederos ตามคติซิกา เวอร์ตอฟ(Dziga Vertov) ทั้งการใช้ประโยชน์จากบุคลิกชวนหัวตามธรรมชาติของแกะ การตัดต่อตามแม่ไม้ต่าง ๆ ของมองตาจ เรื่อยไปจนการยักย้ายส่ายกล้อง ตลอดจนการขัดแตะภาพฝันบ้าเที่ยวล่าสุดต่างกรรมต่างวาระในการหาทางหลุดพ้นจากกับดักหนี้สินอันเกิดจากรสนิยมการเสียดเย้ยของอุรุพงษ์ จะกลวิธีไหนก็ไม่อาจลดทอนความแร้นแค้นที่กระดูกสันหลังของสังคมเหล่านี้กำลังเผชิญ

คนเลี้ยงแกะก็ดี ชาวนาก็ดี และเด็ก ๆ ต่างดิ้นรนอยู่เบื้องหน้าภูมิทัศน์ตระการตางดงามเสียจนชวนให้เคลิ้มไปว่าเป็นสวรรค์บนดิน ผิดกันก็เพียงชีวิตที่ดำเนินอยู่ในนั้นมีแต่ต้องเผชิญความลำเค็ญเหมือนตกนรก ทว่าการชักแม่น้ำทั้งห้าสาธยายความทุกข์ตรมแสนสะท้อนใจก็ไม่มีการตีอกชกหัว

สภาพการณ์ทางการเมืองอันเป็นปัจจัยกำหนดสภาพความเป็นไปของผู้ใช้แรงงานนั้นแตกต่างกันไป และก็นำมาซึ่งบทสรุปอันผิดแผก เช่นเดียวกันกับอีกหลายอาชีพ การเลี้ยงแกะค่อย ๆ หมดไปจากแผ่นดินสหรัฐ เด็ก ๆ ชาวเม็กซิกันจำนวนมากยังคงต้องรับช่วงเป็นคนงานเพาะปลูกในที่ดินซึ่งพวกตนไม่มีวันได้เป็นกรรมสิทธิ์ ผู้คนจากชนบทของไทยหลังเสร็จภารกิจสวมบทบาทเป็นชาวนาก็พากันมุ่งหน้ากลับเข้าไปแสวงโชคในเมืองกรุงอันปกคลุมด้วยมลพิษทางหูจากเสียงพล่ามของนักการเมือง

กระบวนการกดขี่ในโลกกลายเป็นเรื่องกินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง ช่องว่างระหว่างสังคมอุดมคติกับสภาพจริงคืออนิจลักษณ์อันเที่ยงแท้เหมือนฤดูกาลรอการหมุนเวียนกลับมาดังเดิมราวกับวงจรอุบาทว์

จบ

แปลจาก

Koehler, Robert. 'Agrarian Utopias/Dystopias: The New Nonfiction'. http://cinema-scope.com/wordpress/?page_id=978

เครื่องมือส่วนตัว