เหตุการณ์ในชีวิตทางลบ การนับถือศาสนา สุขภาวะทางจิตวิญญาณ และความสุขของนิสิตนักศึกษา

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เหตุการณ์ในชีวิตทางลบ การนับถือศาสนา สุขภาวะทางจิตวิญญาณ และความสุขของนิสิตนักศึกษา

มนัสชนน์ คุณาพรสุจริต รศ.ดร. อรัญญา ตุ้ยคัมภีร์ และ ดร. กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ,

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ความสุข (happiness)” ในบริบทของสังคมไทย มักจะหมายถึง ความสุขมีรากเหง้ามาจากพุทธศาสนา ที่เน้นถึงความสุขแบบสงบสุข อันเกิดจากภาวะที่จิตใจมีความสงบสุข สบาย ปลอดโปร่ง หรือมีใจที่เป็นกุศล ปราศจากความโลภ โกรธ หลงผิด ปราศจากความอยากได้อยากมี หรือยึดติดกับสิ่งใด1 ความสุขนี้ทำให้บุคคลเกิดการปรับตัวที่เหมาะสม นำไปสู่ความสุขสงบภายในนั้น ได้รับความสนใจจากนักคิด นักวิจัย และนักจิตวิทยา เพื่อพัฒนาความสุขในระดับบุคคล มีการวิจัยและแนวคิดพบตัวแปรต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดความสุข โดยเฉพาะ การนับถือศาสนา (แบ่งเป็น การนับถือศาสนาจากแรงจูงใจจากภายในและภายนอก หมายถึงลักษณะการให้คุณค่าแก่ศาสนาว่าการนับถือศาสนาให้ผลประโยชน์ด้านความสงบภายในหรือผลประโยชน์อื่นภายนอก)2 สุขภาวะทางจิตวิญญาณ3 ตลอดจนการรับรู้เหตุการณ์ในชีวิตทางลบ4 มนัสชนน์ คุณาพรสุจริต5 นิสิตปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษา เหตุการณ์ในชีวิตทางลบ การนับถือศาสนา สุขภาวะทางจิตวิญญาณ และความสุขในบริบทพุทธธรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัย จำนวน 533 คน พบว่า โมเดลเชิงสาเหตุที่แสดงถึงอิทธิพลที่การรับรู้เหตุการณ์ในชีวิตทางลบ และการนับถือศาสนาภายในและภายนอก มีต่อความสุขในบริบทพุทธธรรม โดยมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นตัวแปรส่งผ่าน โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ทั้งนี้ ตัวแปรทั้งหมดในสมการสามารถอธิบายความแปรปรวนของความสุขในบริบทพุทธธรรมได้ร้อยละ 98.0 โดยที่สุขภาวะทางจิตวิญญาณมีอิทธิพลทางตรงต่อความสุขในบริบทพุทธธรรมสูงที่สุด รองลงมาเป็นอิทธิพลรวมทางลบของการนับถือศาสนาจากภายนอก อิทธิพลทางลบของการรับรู้เหตุการณ์ทางลบในชีวิต และอิทธิพลทางบวกของการนับถือศาสนาจากภายใน ทั้งนี้ การนับถือศาสนาจากภายในมีอิทธิพลทางตรงต่อความสุขในบริบทพุทธธรรมอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และการรับรู้เหตุการณ์ในชีวิตทางลบและการนับถือศาสนาทั้งสองรูปแบบสามารถอธิบายความแปรปรวนของสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้ร้อยละ 13.8 โดยที่การนับถือศาสนาจากภายใน มีอิทธิพลทางบวกต่อสุขภาวะทางจิตวิญญาณสูงที่สุด รองลงมาเป็นอิทธิพลทางลบของการรับรู้เหตุการณ์ในชีวิตทางลบ และการนับถือศาสนาจากภายนอก ดังนั้น การพัฒนาระดับความสุขในบริบทพุทธธรรม จึงควรมุ่งเน้นนับถือศาสนาจากภายใจ การยกระดับสุขภาวะทางจิตวิญญาณ อันจะนำไปสู่การปรับตัวที่เหมาะสม และเกิดความสุขสงบในจิตใจต่อไป

รายการอ้างอิง

1. ชุติมา พงศ์วรินทร์. (2554). ความสุขของนิสิตนักศึกษาในบริบทพุทธธรรม: การศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์และการพัฒนามาตรวัด. วิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2. Gomez, R., & Fisher, J. W. (2003). Domain of spiritual well-being and development and validation of Spiritual Well-Being Questionnaire. Personality and individual differences, 35, 1975-1991. 3. Gorsuch, R. L., & McPherson, S. E. (1989). Intrinsic/extrinsic measurement: I/E-Revised and single-item scales. Journal for the Scientific Study of Religion, 28, 348-354. 4. Gomez,V., Krings, F., Bangerter, A., & Grob, A. (2009). The influence of personality and life events on subjective well-being from a life span perspective. Journal of Research in Personality, 43, 345–354. 5. มนัสชนน์ คุณาพรสุจริต. (2556). เหตุการณ์ในชีวิตทางลบ การนับถือศาสนา สุขภาวะทางจิตวิญญาณ และความสุขในบริบทพุทธธรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เครื่องมือส่วนตัว