โรคตับอักเสบเรื้อรังกับการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีแล้วประมาณ 38.6 ล้านคนทั่วโลก หลังจากปี ค.ศ. 1996 ได้มีการริเริ่มการนำยาต้านไวรัสเอชไอวีมาใช้ในการรักษากันอย่างแพร่หลายและพบว่าได้ผลดี โดยยาต้านไวรัสเอชไอวีทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเอชไอวีลดลงมาก นอกจากนี้อุบัติการณ์การเกิดโรคที่สัมพันธ์กับเอดส์และการติดเชื้อฉวยโอกาสก็ลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ป่วยจะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นแต่พบว่าปัญหาโรคที่ไม่สัมพันธ์กับเอดส์กลับเพิ่มสูงขึ้นจากการที่ผู้ป่วยเหล่านี้มีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นด้วย โรคที่ไม่สัมพันธ์กับเอดส์ที่พบมากขึ้น ได้แก่ โรคตับผิดปกติ โรคมะเร็ง และ โรคความผิดปกติทางสมองและเส้นประสาท(1) สำหรับโรคตับผิดปกติพบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี สาเหตุของภาวะตับอักเสบเรื้อรังมาจาก การติดเชื้อร่วมของเชื้อ HCV (ร้อยละ 66) เชื้อ HBV (ร้อยละ 17) นอกจากนี้มีสาเหตุจาก ยาต้านไวรัสเอชไอวี (ร้อยละ 3) และยาที่ใช้ร่วม เช่น ยาลดไขมันในเลือด และ ยาต้านวัณโรค ภาวะเมตาบอลิก เช่น ภาวะโรคอ้วน โรคเบาหวาน และ จากการดื่มแอลกอฮอล์ (2) จากงานวิจัยที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (3) พบว่า อุบัติการณ์ของภาวะตับอักเสบเรื้อรังเท่ากับ 5.4 ต่อ 100 บุคคล-ปี ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มยาต้านไวรัสจนเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังเท่ากับ 2.3 + 2 ปี เพศชาย และ ผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกายสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังในผู้ป่วยคนไทยที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่พบเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซีร่วมด้วย [1) Weber R, Sabin CA, Friis-Moller N, Reiss P, El-Sadr WM, et al. 2006. Liver-related deaths in persons infected with the human immunodeficiency virus: the D:A:D study. Arch Intern Med 166: 1632-1641. 2) J-oshi D, O'Grady J, Dieterich D, Gazzard B, Agarwal K. 2011. Increasing burden of liver disease in patients with HIV infection. Lancet 377: 1198-1209. 3) Chalermchai T, Hiransuthikul N, Tangkijvanich P, Pinyakorn S, Avihingsanon A, Ananworanich J. Risk factors of chronic hepatitis in antiretroviral-treated HIV infection, without hepatitis B or C viral infection. AIDS Res Ther. 2013 Jul 26;10(1):21.]

เครื่องมือส่วนตัว