โรคพิษสุนัขบ้า

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ (Rabies) ติดต่อโดยการกัด หรือข่วนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว หนู เป็นต้น ผู้ที่ได้รับเชื้อและไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน จะเสียชีวิตทั้งหมด


อาการของผู้ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า

อาการเริ่มแรกของผู้ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจะมีอาการผิดปกติแบบทั่วไป เช่น ปวดเมื่อย เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หรือท้องเสีย ผู้ป่วยร้อยละ 30 จะมีอาการคัน และแสบร้อนบริเวณแผล หรือแขนขาข้างที่ถูกกัด ซึ่งเกิดจากปมประสาทอักเสบ


เมื่อเข้าสู่ระยะที่สอง อาการจะมี 2 ประเภท คือ

1. กลุ่มอาการเฉพาะเจาะจงทางระบบประสาท เช่น เอะอะอาละวาด คลุ้มคลั่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบได้บ่อย

2. กลุ่มที่มีสติสัมปชัญญะดี แต่แขนขาอ่อนแรงจนขยับและหายใจไม่ได้ อาการนี้จะเหมือนกับโรคเส้นประสาทอักเสบ อาจทำให้แพทย์ทั่วไปแยกไม่ออก และทำการรักษาผิดวิธี จนผู้ป่วยเสียชีวิตได้


การป้องกัน

สำหรับผู้ที่ถูกสุนัขกัด ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทันที โดยใช้เวลาล้างประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงพาไปพบแพทย์ เนื่องจากการฉีดวัคซีนอย่างเดียว โดยไม่ล้างแผลในทันที อัตราการเสียชีวิตจะยังคงสูงอยู่ แต่ถ้าหากได้รับวัคซีนและล้างแผลอย่างถูกวิธีในเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง หลังถูกกัด อัตราการเสียชีวิตจะน้อยมาก หรือไม่มีเลย ปัจจุบัน มีการใช้วิธีควบคุมประชากรสุนัข มาช่วยเสริมในการป้องกันการระบาด โดยการทำหมันด้วยวิธีผ่าตัด ซึ่งต้องฉีดยาซึม หรือยาสลบ แล้วทำการผ่าตัดลูกอัณฑะออกทั้งสองข้าง จากนั้นต้องเฝ้าดูอาการหลังผ่าตัดในกรงว่ามีแผลติดเชื้อหรือไม่


รวบรวมและเรียบเรียงบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว