ไวรัสบี

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เป็นไวรัสชนิดดีเอนเอที่มีขนาดเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีขนาดประมาณ 40 นาโนเมตร โดยข้อมูลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่าเกินกว่าครึ่งของมะเร็งตับมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสบีแบบเรื้อรัง ซึ่งมากกว่าสาเหตุอื่นๆทั้งหมดรวมกัน ซึ่งไวรัสบีไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ เพราะเรารู้จักมานานกว่า 40 ปีแล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Blumberg จากตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยชาวอะบอริจิน ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองดั่ง ไวรัสบีมีอยู่ในโลกตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครทราบ เชื่อว่าน่าจะเกินกว่าพันปีขึ้นไป เพราะมีหลักฐานบ่งบอกถึงอาการของคนที่เป็นโรคตับอักเสบมานานแล้ว ที่มีการคอนเฟิร์มทางวิทยาศาสตร์แน่ๆ คือเมื่อปี พ.ศ. 2550 มีการพบเชื้อไวรัสบีจากตับของมัมมี่ที่อายุมากกว่า 500 ปี


เนื้อหา

ที่มาของเชื้อไวรัสบี

การติดเชื้อไวรัสบีอาจเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายต่างๆไม่ว่าจะเป็นการติดยา หรือติด ผู้หญิง แต่คนที่ไม่มีพฤติกรรมดังกล่าวก็มีโอกาสติดเชื้อได้มากเหมือนกัน โดยผู้ที่มีเชื้อไวรัสบีอยู่ในร่างกาย ซึ่งเราเรียกว่าเป็นพาหะของไวรัสบี หรือเรียกย่อๆ ว่าเป็นพาหะ สามารถถ่ายทอดเชื้อไปยังผู้อื่นได้ 2 ทางหลักๆ คือ

1. การติดต่อทางเลือด เนื่องจากไวรัสบีออกมาจากตับและมาอยู่ในเลือดได้ง่าย การติดต่อทางเลือดจึงเป็นวิธีที่สำคัญที่สุดทางหนึ่งของการแพร่เชื้อ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า อุบัติเหตุเข็มตำมือของมือใหม่หัดเจาะเลือด นี้มีโอกาสติดไวรัสบีมากกว่าไวรัสซีประมาณ 10 เท่าและมากกว่าการติดไวรัสเอดส์ถึง 100 เท่า อย่างไรก็ตามการติดต่อทางเลือดที่สำคัญที่สุดในคนไทย ซึ่งคนทั่วไปมักจะลืมเลือนเพราะไม่ได้เห็นอย่างชัดเจน ก็คือ การติดจากแม่ขณะที่คลอด

2. การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไวรัสบีติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้เพราะเชื้อสามารถออกมาในสารคัดหลั่งของระบบสืบพันธุ์ได้ ดังนั้นสามีหรือภรรยาจึงอาจติดต่อกันได้หากคนใดคนหนึ่งเป็นพาหะ ส่วนผู้ที่มีเพศสัมพันธ์อันตราย เช่น มีเพศสัมพันธ์สำส่อน จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกสามสี่เท่าตัว


โรคตับที่เกิดจากไวรัสบี

แบบที่ 1 ระยะเฉียบพลัน เกิดหลังจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าร่างกายใหม่ๆ ในช่วงระยะเป็นสัปดาห์หรือไม่กี่เดือน คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีอาการผิดปกติใดๆในระยะนี้ แต่บางคนอาจมีตับอักเสบแบบเฉียบพลันให้เห็นชัดเจน เรียกว่ามีอาการ “ดีซ่าน” คือมีตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เป็นอยู่ระยะหนึ่งก็จะหายเป็นปกติ ยกเว้นบางคนที่มีอาการตับอักเสบรุนแรงมากอาจถึงขั้นตับวายแบบเฉียบพลัน คือตับถูกทำลายจนหมดสภาพไม่ทำงาน แบบนี้ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนโดยเอาตับใหม่มาใส่แทนจึงจะรอด

ในระยะเฉียบพลันนี้ ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของชีวิตในระยะยาว เช่นคนที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงมากๆจะกำจัดเชื้อไวรัสออกได้หมด หลังจากเชื้อหมดแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา เรียกว่าหายขาดหรือหายแบบยั่งยืน ส่วนคนที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง มักไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสออกไปได้จึงยังมีเชื้ออยู่ในตับอีกเป็นจำนวนมาก กรณีนี้จึงไม่หายขาดและเข้าสู่ระยะการติดเชื้อแบบเรื้อรังต่อไป


แบบที่ 2 ระยะเรื้อรัง เกิดเมื่อร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้หมดในระยะแรก ทำให้ไวรัสอยู่ในตับต่อไปได้อีกนาน หรือที่เรียกว่าเป็นพาหะของไวรัสบี เพราะสามารถติดต่อแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ เมื่อเข้าสู่ระยะเรื้อรังนี้ เชื้อไวรัสจะสามารถหลบซ่อนในลักษณะของอีแอบในตับได้นานๆ ดังนั้นโอกาสที่จะหายขาดจากไวรัสบีจึงยากมากๆ คือเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งในระหว่างที่อยู่ในตับ ไวรัสจะค่อยๆทำลายเซลล์ตับไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้ตัวเพราะไม่มีอาการใดๆเรียกว่าตับอักเสบแบบเรื้อรัง จะทราบก็ต่อเมื่อตรวจเลือดพบว่ามีการทำงานของตับผิดปกติเท่านั้น อาการของโรคตับที่เกิดจากไวรัสบีไม่ใช่จะเป็นแบบโลว์โปรไฟล์ คือเงียบๆเรียบๆแบบนี้ไปตลอด เพราะบางครั้งอาจมีการ “เว้นวรรค” ความเงียบคือ มีอาการของ “ดีซ่าน” เป็นระยะๆ ให้เห็นเนื่องจากมีตับอักเสบกำเริบที่รุนแรงพอสมควรเป็นพักๆสำหรับบางคน

การทำลายเซลล์ตับอย่างต่อเนื่องไปนานๆหลายๆปี ทำให้เกิดแผลเป็นเรื้อรังที่ตับเรียกว่าตับแข็ง ซึ่งไม่ได้หมายถึงตับที่แข็งแรง แต่ความจริงเป็นตับที่ค่อนข้างอ่อนแอ เพราะเสื่อมสมรรถภาพ ทำงานไม่เต็มร้อย


ยาฉีดต้านไวรัส

เป็นยาช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรงขึ้น ถ้าได้ผลจะสบายไปนานเพราะภูมิต้านทานที่เข้มแข็งนี้จะสามารถควบคุมไวรัสไว้ได้เองเป็นเวลานานๆหลายปีหรืออาจตลอดไป ซึ่งผู้ที่ฉีดมีผลการหายแบบพอเพียงประมาณ 1 ใน 3 (หรือประมาณร้อยละ 30-40) นอกจากนี้บางคนที่โชคดีมากๆอาจหายขาดคือมีภูมิต้านทานต่อไวรัสบีแบบถาวร (พบประมาณร้อยละ 5) ข้อด้อยของยาฉีดคือราคาแพงมากเพราะค่ารักษาทั้งหมดพอๆกับราคารถญี่ปุ่นทั้งคัน และยังมีผลข้างเคียงจากการฉีดยาพอประมาณ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง ค่อนข้างเครียด หรืออาจมีผมร่วง(เล็กน้อย) อาการพวกนี้จะค่อยๆหายไปเมื่อหยุดยาแล้ว

ดังนั้นผู้ที่รักษาจึงต้องมีอดทนสูงในระหว่างการรักษาเพราะถ้าไม่ตั้งใจจะไปไม่ถึง ยาฉีดจึงไม่เหมาะกับผู้สูงอายุหรือมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งมากๆแล้วก็ไม่ควรใช้ยาฉีดเพราะอาจทำให้ตับทรุดลงได้

ยาฉีดที่ใช้ในปัจจุบัน คือ เพคอินเตอร์เฟอรอน (peg-interferon) เรียกง่ายๆว่า “เพค” มี 2 แบบ คือ แบบ ทูเอ (2a) และ ทูบี (2b) ฉีดสัปดาห์ละ 1 เข็ม จนครบ 1 ปี


ยาทานต้านไวรัส

ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส พูดง่ายๆคือเป็น ยาคุม(กำเนิด) ของไวรัสนั่นเอง ดังนั้นจึงมักต้องทานยาไปนานหลายๆปีเพื่อควบคุมไวรัสเอาไว้

ยาทานมีข้อดีคือไม่ค่อยมีผลข้างเคียงมารบกวน ดังนั้นเวลาใช้ยาจึงค่อนข้างสบาย และใช้ได้ง่ายกับคนไข้ทั่วๆไปไม่ว่าจะมีสุขภาพร่างกายหรือจิตใจเป็นอย่างไร

ข้อด้อยของการใช้ยาทานคือ มักจะต้องทานยาไปนานๆอาจจะเป็นเวลาหลายๆ ปีติดต่อกันเพราะหยุดยาได้ยาก เมื่อถ้าทานยาไปนานๆอาจมีการดื้อต่อยาเกิดขึ้น เพราะไวรัสบางส่วน(จะเรียกว่า ม็อบไวรัส ก็ได้) เริ่มมีอารยะขัดขืนคือปรับตัวต่อต้านยาเกิดขึ้น เมื่อมีไวรัสแบบนี้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆจะทำให้ยาใช้ไม่ได้ผลต่อไป ต้องเพิ่มยาทานตัวที่สองเข้าไปเสริมหรือเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่นเลย

ยาทานมีให้เลือก 5 ชนิด คือ

- ลามิวูดีน (lamivudine)

- อะดีโฟเวีย (adefovir)

- เอนทิคาเวีย (entecavir)

- เทอวิบูดีน (telvibudine)

- ทีนอฟโฟเวีย (tenofovir)

ปัจจุบันยาทานได้รับความนิยมมากกว่ายาฉีดในอัตราส่วนของยาทานประมาณร้อยละ 80-90 เพราะใช้ง่ายและราคาไม่แพงเท่ายาฉีด อย่างไรก็ตามถ้าเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสม การใช้ยาฉีดจะมีข้อดีเพราะไม่ต้องรักษากันแบบยืดเยื้อยาวนานไม่รู้จบ


วัคซีนป้องกันไวรัสบี

การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสบีจะฉีดเข็มแรกก่อน หลังจากนั้นอีก 1 เดือนฉีดเข็มที่ 2 และฉีดเข็มที่ 3 หลังเข็มแรก 6 เดือน (ฉีด 0,1,6 เดือน) สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสบีได้มากกว่า ร้อยละ 90 บางรายอาจไม่ได้ผลขึ้นกับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น

- ถ้าอายุน้อย ได้ผลดีกว่าฉีดตอนอายุมาก

- ถ้าน้ำหนักน้อย ได้ผลดีกว่าคนที่น้ำหนักมาก

- ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่นเป็นโรคเอดส์ ได้ผลน้อยกว่าคนปกติ

ถ้าฉีดครบ 3 เข็มและมีภูมิต้านทานแล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นเพราะภูมิต้านทานมักจะอยู่ได้นานๆ เกินกว่า 10 ปีขึ้นไป ยกเว้นบางรายที่มีภูมิต้านทานไม่ปกติเช่น เป็นโรคเอดส์ ทานยากดภูมิคุ้มกันหรือเป็นโรคไตวายที่ต้องล้างไตเป็นประจำ ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกๆ 5 ปี


วิธีรักษาสุขภาพของผู้ที่มีโรคตับจากไวรัสบี

1. แอลกอฮอล์ งดการดื่มสุราอย่างเด็ดขาดเพราะทำให้ตับอักเสบและเสื่อมมากขึ้น

2. อาหารและยา ทานอาหารต่างๆที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน หลีกเลี่ยงยาต่างๆที่อาจมีอันตรายต่อตับ

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยกเว้นในกรณีที่มีการอักเสบของตับรุนแรงควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหม

4. อ้วน ถ้าน้ำหนักเกินทำให้โอกาสเกิดโรคไขมันสะสมในตับหรือไขมันเกาะตับมากขึ้น

5. อารมณ์ ไม่เครียดและคิดบวก ทำใจให้สบายๆ ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นมะเร็งตับจนเกินไป เพราะการเกิดมะเร็งต้องใช้เวลานานพอสมควร ไม่ใช่ชั่วข้ามคืนหรือข้ามวัน

6. อื่นๆ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและอัลตราซาวด์ของตับเป็นระยะๆ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างของตับรวมทั้งเพื่อค้นหามะเร็งตับให้พบตั้งแต่ระยะแรกๆ

นอกจากนี้ควรป้องกันการติดเชื้อไปยังผู้อื่น เช่น ถ้ามีเพศสัมพันธ์ควรป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัย ผู้ที่มีเชื้อไวรัสบีสามารถดื่มน้ำหรือทานอาหารร่วมกับผู้อื่นได้ แม้จะมีหลักฐานว่ามีเชื้อไวรัสบีออกมาทางน้ำลายได้ แต่มีปริมาณน้อยมาก ดังนั้นโอกาสติดต่อไปยังผู้อื่นทางอาหารหรือน้ำลายมีน้อยมาก


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รศ. นพ. พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์, ศ. นพ. ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์วิจัยไวรัสตับอักเสบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ

เครื่องมือส่วนตัว