Knowledge Driven Economies
จาก ChulaPedia
เนื้อหา |
ลักษณะขององค์กรที่เป็น Knowledge Driven Companies
1. มีการบริหารความรู้ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล โดยองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ปล่อยให้ความรู้ทั้งที่มีอยู่และเสาะแสวงหาได้ให้ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ องค์กรเหล่านี้มีกิจกรรมและความพยายามที่จะเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งนำความรู้เหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในองค์กร
2. มีการลงทุนอย่างชัดเจนในความรู้ทั้งด้านการตลาดและการบริหาร โดยไม่ได้มุ่งเน้นอยู่ที่ความรู้ทางด้านเทคนิคเพียงอย่างเดียว องค์กรเหล่านี้ให้ความสำคัญกับความรู้ในเรื่องของความต้องการของลูกค้า และพฤติกรรมของคู่แข่งขัน พอๆ กับความรู้ทางด้านเทคนิคที่ใช้ในการผลิตและดำเนินงาน
3. มีระบบการจูงใจที่กระตุ้นให้บุคลากรภายในองค์กรได้พัฒนาและแบ่งปันความรู้ภายในองค์กร
ปัจจัยสู่ความเป็น Knowledge Driven Economies
1. ในการปรับโครงสร้างองค์กรในลักษณะใดก็ตามจะต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญต่อความรู้ โดยทำการประเมินความสามารถทางด้านความรู้ขององค์กรด้วย สิ่งที่ผู้บริหารทุกองค์กรจะต้องทำก็คือวิเคราะห์ความต้องการทางด้านความรู้ที่สำคัญสำหรับกลยุทธ์แต่ละด้านขององค์กร จัดทำการวิเคราะห์และประเมินความรู้ (Knowledge Audit) ภายในองค์กร เพื่อให้ทราบสถานะและระดับของความรู้ภายในองค์กร และ พิจารณาแผนการปรับเปลี่ยนองค์กรว่าความรู้ที่สำคัญได้สูญหายไปบ้างหรือไม่
2. ควรจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางด้านทรัพยากรบุคคลใหม่ และองค์กรต่างๆ ควรที่จะลดการสอบทางวิชาการเพื่อรับบุคคลเข้าทำงาน เนื่องจากการสอบทางวิชาการจะทำให้ผู้ที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยใหม่เกิดความได้เปรียบ ทำให้บุคลากรที่มีอายุมากแต่เป็นผู้ที่เป็น Knowledge Worker ไม่ได้มีโอกาสในการเข้าทำงาน
3. การสร้างกระทรวงการเรียนรู้และการทำงาน (Ministry of Learning and Employment) เพื่อให้ระบบการศึกษาของประเทศกับนโยบายในเรื่องของการทำงานได้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่นเดียวกับในประเทศอังกฤษที่ได้มีการรวมสองกระทรวงนี้เข้าด้วยกัน
4. มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายในลักษณะของ Cluster เพื่อให้เกิดเครือข่ายด้านความรู้ คำว่าเครือข่ายหรือ Cluster คือ กลุ่มขององค์กรและสถาบันที่มีความสัมพันธ์กัน อีกทั้งอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ผลิต สถาบันการศึกษา ฯลฯ ความใกล้ชิดขององค์กรเหล่านี้จึงเป็นการง่ายที่จะเกิดการถ่ายทอดและไหลเวียนของความรู้ภายใน Cluster เดียวกัน ดังนั้นทั้งภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรที่จะสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดและไหลเวียนของความรู้ระหว่างองค์ กรและหน่วยงานใน Cluster เดียวกัน
5. กระตุ้นให้เกิดการไหลเข้าของความรู้จากต่างประเทศ ประเทศที่ต้องการทีจะเป็น Knowledge Driven Economies จะต้องมุ่งเน้นในการไหลเข้ามาของความรู้ในด้านต่างๆ ด้วย และไม่ใช่แต่เฉพาะความรู้ทางด้านเทคนิคหรือเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงความรู้ในด้านตลาด ลูกค้า และคู่แข่งขันด้วย และการที่กระตุ้นให้เกิดการไหลเข้าของความรู้ สิ่งที่ประเทศต่างๆ ควรที่จะทำได้ ประกอบด้วย
- พยายามทำตัวเป็นพันธมิตรที่ดีกับองค์กรชั้นนำของต่างชาติ อีกทั้งสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทต่างชาติว่าการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันเป็นสิ่งที่ดี
- มีการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนและองค์กรในประเทศเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา
- สนับสนุนให้เกิดความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษมากขึ้น ทั้งในด้านของการอ่าน เขียน และพูด เนื่องจากภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาหลักในการดูดซับความรู้จากต่างประเทศ
ประโยชน์ของการเป็น Knowledge Driven Economies
1. ช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นกว่าประเทศอื่น
2. ช่วยลดความเปราะบางของเศรษฐกิจของประเทศ
3. ทำให้อัตราการจ้างงานโดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือเพิ่มสูงขึ้น
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเป็น Knowledge Driven Economies
1. ความเข้าใจผิดว่า Knowledge Driven Economies จะต้องมุ่งเน้นที่สินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เนื่องจากการที่จะเป็น Knowledge Driven Economies ได้นั้นไม่ได้อยู่ที่สินค้าที่ผลิต แต่อยู่ที่วิธีการที่ใช้ในการผลิต นอกจากนี้ถ้าจุดแข็งของประเทศไม่ได้อยู่ที่สินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง การเข้าไปมุ่งเน้นที่สินค้าไฮเทคเพื่อให้ได้เป็น Knowledge Driven Economies ก็เป็นความคิดที่ผิดพลาด เนื่องจากแทนที่จะเกิดข้อได้เปรียบกลับทำให้เกิดข้อเสียเปรียบทางด้านความรู้ (Knowledge Disadvantage)
2. ความเข้าใจผิดว่า Knowledge Driven Economies จะต้องมุ่งเน้นการลงทุนทางด้านทรัพย์สินและเทคโนโลยีใหม่ๆ ถึงแม้การลงทุนในเรื่องของสินทรัพย์และเครื่องจักรเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เมื่อลงทุนได้ถึงระดับหนึ่ง การลงทุนในด้านเครื่องจักรก็จะหมดความสำคัญลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าประเทศไม่สามารถที่จะพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้ทัดเทียมต่อเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ได้ลงทุนซื้อมา
3. ความเข้าใจผิดว่าการการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการทางเศรษฐกิจเป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้ประเทศและองค์กรเติบโตในระยะยาว แต่การลดหนี้ลงกลับอาจจะทำให้องค์กรต้องจำกัดสินทรัพย์ทางความรู้ (Knowledge Assets) ที่สำคัญออกไปด้วย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวขององค์กรลดน้อยลง
อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ